


เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 เวลา 09.00 น. บริเวณลานหน้าหอประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมแถลงผลการดำเนินงาน ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีผู้แทนชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง
นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวสรุปประเด็นต่างๆ 8 ประเด็นหลัก ที่ทางเทศบาลได้ดำเนินการในด้านต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “วิกฤตโควิด -19” การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เทศบาลฯ มีรายรับลดลง โดยในปี 2564 มีรายจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 22.3 ล้านบาท พอถึงปี 2565 รายจ่ายงบลงทุนลดลงเหลือเพียง 7.7 ล้านบาท เทศบาลฯ พยายามอย่างเต็มที่ในการใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดเพื่อการป้องกันโรค ทั้งการปูพรมตรวจหาเชื้อไวรัส การจัดทำศูนย์กักตัวผู้ติดเชื้อ โครงการ เจอ แจ้ง จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับยาต้านเชื้อ และจัดตั้งศูนย์ “ฮอมกั๋น-ปั๋นหื้อ” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายอาหารสู่ชุมชน ต่อยอดสู่การจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ หรือ URC เพื่อเป็นศูนย์รวมความคิดในการพัฒนาเมืองจากทุกภาคส่วน ต่อยอดสู่ Traffy Fondue ภายใต้ชื่อ “จ้วยกั๋นผ่อ” ที่เป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ที่ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
“การบริหารจัดการน้ำท่วม” ในช่วงแรกเทศบาลฯ สามารถเตรียมรับมือได้ดีในการป้องกันน้ำท่วมเขตเศรษฐกิจของเมือง แต่ด้วยระดับน้ำปิงที่สูงเกือบ 6 เมตร ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 100 ปี ทำให้น้ำปิงทะลักเข้าท่วมหลายพื้นที่ในเขตเทศบาลฯ มีผู้ได้รับผลกระทบนับหมื่นครัวเรือน นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเฉพาะกิจ หรือ CMFORCE เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ทั้งการเตือนภัย การอพยพผู้ประสบภัย การจัดส่งอาหารให้กับผู้ประสบภัยกว่า 5,000 คนต่อมื้อ และส่งให้วันละ 3 มื้อ จนเหตุอุทกภัยสิ้นสุด ระดมกำลังฟื้นฟูเมือง จนทำให้เมืองกลับมาสู่สภาพปกติภายใน 1 เดือน เยียวยาประชาชนผ่านศูนย์ช่วยเหลือประชาชนเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นตัวกลางในการรับคำร้องจากประชาชนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจาก ปภ. ซึ่งในส่วนเงินช่วยเหลือ 9,000 บาท ได้มอบให้กับประชาชนแล้ว เงินค่าล้างโคลน ทางจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณ เพื่อจ่ายให้กับประชาชน ซึ่งจะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม เป็นต้นไป
“การพัฒนาคลองแม่ข่า” สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2565 ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์สองฝั่งคลอง ดาดผนังคลองด้วยซีรีนบล็อก สร้างสะพานเชื่อมโยงชุมชนสองฝั่งคลองเข้าด้วยกัน และ สร้างท่อรวบรวมน้ำเสีย คลองแม่ข่ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมระดับแลนด์มาร์กของจังหวัดเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน ได้ทำการพัฒนาคลองแม่ข่าในพื้นที่รับผิดชอบคิดเป็นระยะทางกว่า 4.5 กิโลเมตร
“การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค” ร่วมกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลักดันโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารในเขตเมืองเก่าลงใต้ดิน โดยแบ่งงานออกเป็น 8 ล็อต เทศบาลฯ ดำเนินการปรับปรุงผิวถนนทันทีที่ได้รับคืนพื้นที่จากการไฟฟ้าฯ โครงการนำสายไฟลงใต้ดิน เดิมต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการกว่า 8 ปี จะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 ปี ระหว่างปี 2565 จนถึงปี 2568 เทศบาลฯ ปรับปรุงถนนทั้งสายหลัก สายรอง และซอย ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 108 สาย คิดเป็นระยะทางกว่า 50,484 เมตร
“การส่งเสริมสุขภาพ” ในปี 2566 ได้ปรับปรุงโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็น Smart Hospital นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการ นำแอปพลิเคชัน ดูหน่อย มาใช้ในการนัดหมายผู้ป่วย จัดให้มีคลินิกวัคซีน และ ปรับปรุงพื้นที่การให้บริการผู้ป่วยนอกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และในเร็ว ๆ นี้ จะมีบริการศูนย์ไตเทียม และ Wellness Center เพื่อให้บริการประชาชนโครงการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สำหรับประชาชนอายุ 35 ปี ขึ้นไป มีเป้าหมายปีละกว่า 4,000 คน ทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้อง
“การเพิ่มพื้นที่สีเขียว” เทศบาลนครเชียงใหม่สร้างสวนสาธารณะประชาชน บริเวณตลาดวโรรส ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่สาธารณะที่ถูกรุกล้ำมานานหลายปี ปรับปรุงสวนหย่อมบริเวณจุดกลับรถตลาดสมเพชร และ ปรับปรุงสวนสาธารณะหนองบวกหาด
“การส่งเสริมการศึกษา” ได้มีการจัดหลักสูตร Mini English Programme หรือ MEP ที่โรงเรียนเทศบาลวัดศรีดอนไชย และจะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่าง การปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลฯ ให้สามารถรองรับเด็กได้มากขึ้น
“การส่งเสริมการท่องเที่ยว” เทศบาลนครเชียงใหม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการเพิ่มสีสันให้กับเทศกาลและงบประเพณีต่าง ๆ เช่น การจัดทำซุ้มไฟตกแต่งเมืองทั้งที่ถนนท่าแพและสะพานนวรัฐ การจัดทำอุโมงค์น้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ การจัดแสดงคอนเสิร์ตพร้อมพลุอย่างยิ่งใหญ่ในงานเคาท์ดาวน์ ฯลฯ
ซึ่งในช่วงท้ายของการ ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2568 ได้มีผู้นำชุมชน และผู้สื่อข่าวได้เสนอแนะปัญหา พร้อมกล่าวชื่นชมในการดำเนินงานของทางเทศบาลในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา.
นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่