บูชา”พ่อท่านคง”เกจิดังภาคใต้ ได้บุญใหญ่ ร่วมสร้างโรงพยาบาล

0
(0)
image_print

เมื่อเวลาประมาณ 10.10 น.วันนี้ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ที่โรงหล่อปฏิมากรรม พุทธปฏิมาพรเลิศ ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ได้มีพิธีการเทนำฤกษ์หล่อวัตถุมงคล “พ่อท่านคง โกกนุตฺโต “ หรือ พระครูธรรมโฆษิต วัดธรรมโฆษณ์ โดยมี พระมหาบุญทิพย์ กิตกิตโสภโณ เจ้าคณะอำเภอสิงหนคร และ เจ้าอาวาสวัดธรรมโฆษณ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายเฉลิมชัย ครุอำโพธิ์ คหบดี เจ้าของโรงโม่หินบริษัทเขาบันไดนางศิลา จำกัด อ.บางกล่ำ จ.สงขลา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เพื่อเป็นการเททองนำฤกษ์ตามพิธีการสร้างวัตถุมงคล หลังจากนั้นทางโรงหล่อจะเป็นผู้ดำเนินการสร้างวัตถุมงคลรูปเหมือนแต่ละรุ่นตามที่ได้มีการกำหนดไว้ เพื่อนำมาเข้าพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดธรรมโฆษณ์ ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ในวันที่ 20 เมษายน ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2564 โดยมี พระเถราจารย์ และพระเกจิดังนั่งปรกอธิฐานจิต จำนวน 26 รูป อาทิเช่น พระครูสุเทพธรรมโชติ วัดนิคมเทพา พระครูสังวรธรรมจารี วัดทุ่งนารี และพระครูสุวัฒนาภรณ์ วัดนาทวี เป็นต้น


สำหรับการจัดสร้างวัตถุมงคล รูปเหมือน”พ่อท่านคง” ในครั้งนี้ นับเป็นพิธีที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และมีการจัดสร้างเป็นจำนวนพอสมควร รวมทั้งได้นิมนต์ พระเถราจารย์ ที่เป็นพระเกจิชื่อดังมาทำพิธีพุทธาภิเษกเป็นจำนวนมากที่สุดถึง 26 รูป เพื่อต้องการให้การจัดสร้างวัตถุมงคล “พ่อท่านคง” ครั้งนี้ มีทั้งพุทธคุณ บารมี เข้มขลัง หลังจากการเปิดให้เช่า เพื่อนำเงินมาสมทบทุนสร้างอาคารทันตกรรม โรงพยาบาลสิงหนครส่วนหน้าแล้ว ยังทำให้ผู้เช่าได้รับบุญครั้งใหญ่ ที่ได้เช่าวัตถุมงคล พ่อท่านคง โดยการนำรายได้มาจัดสร้างโรงพยาบาล
ประวัติโดยย่อ ของ “พ่อท่านคง”หรือ หลวงพ่อคง แห่งวัดธรรมโฆษณ์
ประวัติ”พ่อท่านคง”หรือ หลวงพ่อคง แห่ง วัดธรรมโฆษณ์ จ.สงขลา หรือ พระครูธรรมโฆษิต(คง โกกนุตฺโต) วัตถุมงคลของท่านคือเหรียญรุ่นแรก เป็นหนึ่งในพระเครื่องของ จว.สงขลา ที่มีมูลค่าสูงมากและเป็นที่ต้องการของเหล่าเซียนพระ นักสะสมพระเครื่อง แต่หายากในปัจจุบันนี้
ประวัติของ”พ่อท่านคง” หรือ พระครูธรรมโฆษิต (คง) โกกนุตตเถระ ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน ยี่ ปี ระกา พ.ศ.2414 เป็นบุตรคนโตของนายซัง นางม่า บิดา มารดา มีนามสกุลเดิม “โกกะพงศ์”มีน้องอีกสองคน คือ ยัง และ ตั้ง ท่านเกิดที่บ้านหนองปาป ตำบลจะทิ้งหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มารดาของท่านถึงแก่กรรมเมื่อท่านยังเยาว์วัย พอท่านอายุได้ 13 ปี บิดาที่รักก็มาทิ้งท่านไปอีกคน แต่ได้ความเมตตาของนางมุ้ย นางเสน ผู้เป็นน้า นำไปฝากเป็นศิษย์ท่านทองขวัญ เจ้าอาวาสวัดบ่อปาป จึงได้ดำรงเป็นศิษย์วัด รับการศึกษาทางธรรมของสมัยนั้น พออายุได้ 15 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักของท่านทองขวัญและเป็นสามเณรมาจนอายุได้ครบ 21 ปีบริบูรณ์ จึงทำการอุปสมบทเป็นภิกษุในพัทธสีมาวัดบ่อปาป โดยท่านทองขวัญเป็นพระอุปัชณาย์ พระนวล วัดบ่อปาป เป็นพระกรรมวาจาจาริย์ พระหนูแก้ว วัดมะม่วงหมู่ เป็นพระอนุสาวนาจาริย์ ท่ามกลางสงฆ์ 22 รูปในปี พ.ศ. 2436

หลวงพ่อคง ท่านได้สนใจในการศึกษาธรรมวินัย โดยวิธีการของสมัยนั้น คือเรียนสวดมนต์จบ เรียนปาฏิโมกข์แปลจบ และได้ปฏิบัติอุปัชฌาย์ตามหน้าที่ของศิษย์ที่ดีทุกประการ จนท่านอาจารย์เห็นความสามารถในการปฏิบัติสำหรับตนและหมู่คณะเป็นอย่างดีประกอบกับมีอายุพรรษาพอบริหารงานได้แล้ว ในปี พ.ศ.2443 ท่านจึงถูกอาจารย์สั่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมโฆษณ์ และรับสมัญญานจากประชาชนว่า พ่อท่านธรรมโฆษณ์ ตั้งแต่นั้นมา แม้จะได้รับสมณศักดิ์แล้วก็ไม่มีใครเรียกแต่เรียกว่า พ่อท่านธรรมโฆษณ์ อย่างเดิม
วัดธรรมโฆษณ์ ปัจจุบันทั้งหมด เป็นผลงานของพ่อท่าน ท่านได้เสียสละกำลัง พัฒนาทุกทางสร้างวัดอันเป็นที่ลุ่มให้เป็นที่ดอน และมีเสนาสนะพอสำหรับภิกษุสามเณรได้อยู่จำพรรษา นอกจากการสร้างทางด้านวัตถุแล้ว ท่านได้สร้างจิตใจของภิกษุตลอดถึงชาวบ้าน โดยการเปิดสำนักศึกษานักธรรมตามแผนใหม่ สร้างโรงเรียนประชาบาลเพื่อประโยชน์แก่เด็กๆของชาติ พ่อท่านคง ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2453 ถึง พ.ศ.2502 เป็นเวลาถึง 49 ปี มีสัทธิวิหาริก หลายพันคน พ่อท่านได้รับสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2492 ตามปกติ พ่อท่านเป็นผู้มีสุขภาพดี ไม่เคยเจ็บป่วยออดแอด ไปไหนมาไหนได้ตามปกติเสมอมา แต่สังขารนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ร่างกายที่เคยทนต่อโรคหมดความต้านทาน จึงมีโรคปรากฏ พ่อท่านต้องอยู่กับที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ ต่อมาก็พูดไม่ได้ คณะศิษย์ได้เอาใจใส่ทำการรักษาเป็นอย่างดี จนมาถึง วันที่ 5 พฤษภาคม 2503 เวลา 10.10 น. พ่อท่านก็ละสังขารด้วยอาการอันสงบ ท่านกลางความพรั่งพร้อมของศิษย์ทั้งหลาย ทิ้งไว้แต่ความดีงามคณะศิษย์และผู้คุ้นเคย ท่านมรณภาพไปอย่างไม่มีวันลืม ศิริรวมอายุของพ่อท่านคงได้ 89 ปี พรรษา 67

ภาพ/ข่าว.นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »