เลขาพชภ.ชี้กระบวนการแปลงสัญชาติซับซ้อน-เร่งผลักดันเต็มที่
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ที่หมู่บ้านหล่อโย ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) นำโดย น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิฯ ได้มอบทุนที่รับการสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยระบบนวัตกรรมเกษตรยั่งยืนชุมชนบนพื้นที่สูง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Programme: UNDP) ให้กับชาวบ้านไร้สัญชาติชาวอาข่าบ้านหล่อโย จำนวน 10 ราย
ทั้งนี้หมู่บ้านหล่อโยมีประชากรราว 300 คนโดยเกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า และในจำนวนนี้กว่า 40 คนยังไร้สัญชาติโดยเฉพาะผู้เฒ่าที่อายุมากกว่า 60 ปีจำนวน 25 คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปีและได้ยื่นคำร้องเพื่อขอแปลงสัญชาติไทยมานานหลายปีแล้ว แต่กลับยังไม่สำเร็จ เนื่องจากความซับซ้อนทางกระบวนการในการแปลงสัญชาติเพราะผู้เฒ่าเหล่านี้เกิดบริเวณชายแดนไทยพม่า
นายหล่อคอ เยเขียงกู่ อายุ 66 ปี ซึ่งได้รับทุนในครั้งนี้ กล่าวว่า อาศัยอยู่ที่บ้านหล่อโยมา 41 ปี จนลูกๆ ทั้ง 4 คนเติบโตและมีครอบครัวหมดแล้วโดยทั้งหมดได้บัตรประชาชนไทย มีแต่ตนและภรรยา ที่ยังคงไม่ได้บัตรประชาชนทั้งๆ ที่พยายามทำเรื่องมาหลายปีและต้องขึ้นๆ ลงๆ จากบนดอยไปยังอำเภอมาแล้วหลายครั้งจนจำไม่ได้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชนไทยสักที
“ตอนนี้ชีวิตลำบากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลูกๆแยกย้ายไปมีครอบครัว เพื่อนๆ ที่ได้บัตรประชาชนแล้วต่างก็ได้เบี้ยผู้สูงอายุ แต่เราที่ไม่บัตรประชาชนไม่ได้อะไรเลย ยิ่งตอนนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผักผลไม้เมืองหนาวที่ปลูกไว้ขายแทบไม่ได้จนต้องปล่อยเน่าเสีย และไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล ทำให้รู้สึกน้อยใจว่าเราก็อยู่เมืองไทยมานาน ลูกหลานเป็นคนไทยทั้งหมด แต่ทำไมผู้เฒ่าอย่างเรายังไม่เป็นคนไทยสักที” นายหล่อคอ กล่าว
ผู้เฒ่าไร้สัญชาติผู้นี้กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ต้องใช้ทุนที่สะสมมาเพื่อกินอยู่ให้มีชีวิตรอด ยังดีที่ปลูกข้าวได้ แต่หากสถานการณ์โควิดยังเป็นเช่นปัจจุบัน คงต้องลำบากมากและอาจต้องไปพึ่งพาลูกๆ ที่อยู่ในพื้นที่อื่น
ด้านนายประกาศิต เชอมือกู่ ผู้นำหมู่บ้านหล่อโย กล่าวว่า เดิมที่ชุมชนแห่งนี้เคยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดทำให้นักท่องเที่ยวหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โชคดีที่บริเวณรอบๆ มีป่าที่ชาวบ้าน และ พชภ. รวมทั้งหลายหน่วยงานร่วมกันฟื้นฟูไว้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ทำให้ชาวบ้านสามารถหาพืชผักจากป่ามาประกอบอาหารได้ และบางส่วนก็ปลูกผักเอง
นายประกาศิตกล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ยังไม่มีบัตรประชาชนโดยเฉพาะคนเฒ่าได้พยายามทำเรื่องเพื่อขอสัญชาติ แต่ผ่านมาแล้วนับสิบปีก็ยังไม่ได้สักที จนหลายคนรู้สึกน้อยใจเพราะอายุมากเกิน 60 ปีแล้ว ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกป่าและรักษาสิ่งแวดล้อมจนมีป่าใหญ่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้บัตรประชาชน
ด้านน.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ.กล่าวว่า พชภ.ได้รับรู้ถึงความลำบากของชาวบ้านบนดอยโดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ ดังนั้น พชภ.จึงพยายามหาทุนเพื่อช่วยสนับสนุนซึ่งได้แจกจ่ายเฉลี่ยกันไปตามหมู่บ้านต่างๆ แม้จำนวนเงินไม่มากนักแต่น่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้าง
น.ส.เพียรพรกล่าวว่า สำหรับกระบวนการขอแปลงสัญชาติให้กับผู้เฒ่าที่อายุเกิน 60 ปี นั้น พชภ.ผลักดันกรณีศึกษาเพื่อแก้ไขระเบียบขั้นตอน ในบางหมู่บ้านเช่น หมู่บ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง ได้มาถึงขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการระดับจังหวัด ของจังหวัดเชียงราย ขณะที่ของผู้เฒ่าบ้านหล่อโย ซึ่งได้ยื่นเรื่องของแปลงสัญชาติที่อำเภอแม่จันแล้ว ต้องติดตามว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน อย่างไรก็ตามกระบวนการแปลงสัญชาติสำหรับชาวเขาชนกลุ่มน้อยนั้น กระบวนการค่อนข้างซับซ้อนและใช้เวลายาวนาน หลังจากยื่นคำร้องจากอำเภอ เข้าสอบสัมภาษณ์ระดับจังหวัด ต้องส่งเรื่องไปที่กรมการปกครอง จากนั้นจึงเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นจึงถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“พชภ.และภาคี ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ผลักดันนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน กลมกลืนกับสังคมไทย จนนำมาสู่หนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครองให้ลดขั้นตอนการแปลงสัญชาติสำหรับผู้อายุ 60 ปี บ้างแล้ว เช่น ลดเกณฑ์การทดสอบภาษาไทยกลาง แต่ทดสอบการสื่อสารในภาษาถิ่น ยกเว้นเกณฑ์รายได้ อาชีพ และการตรวจสอบจากหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน แต่ขั้นตอนก็ยังคงซับซ้อนยุ่งยาก ไม่สามารถดำเนินการได้เองโดยผู้สูงอายุ เรารู้สึกเห็นใจผู้เฒ่าผู้แก่มาก เพราะมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยมานาน 30-60 ปี สร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการจากรัฐ หรือการเยียวยาในช่วงผลกระทบจากโควิด แม้แต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือค่ารักษาพยาบาลในยามแก่เฒ่าก็ไม่ได้ แต่ พชภ. จะติดตามและเร่งรัดผลักดันอย่างเต็มที่” น.ส.เพียรพร กล่าว