อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่เชียงใหม่ติดตามงานตามนโยบาย กษ. พร้อมมอบนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งสหกรณ์ หนุนลูกหลานเกษตรกรสร้างความมั่นคงอาชีพเกษตร

0
(0)
image_print

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบปะลูกหลานเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ และมอบนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายสุริยะ คำปวง สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ บุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกร ให้การต้อนรับ ณ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เยี่ยมชม Display กาแฟของสหกรณ์ฯ และรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการนำลูกหลานเกษตรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร รวมทั้งโครงการการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการพัฒนาฐานชุมชน (กาแฟอาราบิก้า) ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น (Local to Local Linkage) โดยได้คัดเลือกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและสหกรณ์ในการผลิตกาแฟคุณภาพดี พัฒนาการจัดการคุณภาพตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การสร้างตราสินค้า ตลอดจนการทำตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสหกรณ์และพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน และได้ทำข้อตกลงร่วมกัน ทาง JTEPA จึงส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาปฏิบัติงานร่วมกับสหกรณ์ ในปี 2562 เก็บฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดกาแฟ มีเกษตรกรที่มีความสนใจเข้าร่วมโครงการ 37 ราย และลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำด้านการผลิต การแปรรูปเบื้องต้น การเก็บเกี่ยว การควบคุมคุณภาพ โดยการจัดอบรมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพกาแฟของสหกรณ์ กำหนดทีมตรวจสอบคุณภาพกาแฟ ความสุก บันทึกขั้นตอนการแปรรูป ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลา และตรวจสอบความสมบูรณ์ของเมล็ดและรสชาติกาแฟ

ปัจจุบันสหกรณ์ฯ กำหนดราคารับซื้อกาแฟกะลาของสมาชิกแบบขั้นบันได โดยใช้คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคากาแฟกะลาที่รับซื้อ ในฤดูกาลผลิต 2562/63 สมาชิกทั่วไปและสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ สหกรณ์ฯ รับซื้อที่ราคา 110 บาท/กก. สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ และกาแฟกะลามีลักษณะทางกายภาพของกาแฟกะลาผ่าน (Defect น้อยกว่า 7%) จะเพิ่มราคาให้อีก 3 บาท (113 บาท/กก.) สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะทางกายภาพของกาแฟสาร (คะแนน Defect น้อยกว่า 10) และรสชาติ (คะแนนคัพปิ้ง ตามขั้นตอนการประเมิน Cup of Excellence สูงกว่า 80 คะแนน) จะเพิ่มราคาให้อีก 2 บาท (115 บาท/กก.) และได้ดำเนินการพัฒนากาแฟ Single Origin และการพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ สหกรณ์ฯได้เริ่มทดลองทำการตลาด ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากการทำ Single Origin ทำได้น้อยและยากสำหรับกาแฟทั่วไป สหกรณ์ได้จัดทำบรรจุภัณฑ์แยกเฉพาะรายคน แสดงรายละเอียดพื้นที่ความสูง และลักษณะเด่นของกาแฟของแต่ละคน รวมถึงการจัดทำ QR-Code ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่กำหนดจัดอบรมหลักสูตร : การพัฒนามาตรฐาน “ระบบตามสอบสินค้าเกษตร” QR Trace on Cloud ร่วมกับ มกอช. ในเดือนมิถุนายน 2564 นี้ด้วย
ในปีการผลิต 2563/64 สหกรณ์ฯดำเนินการแปรรูปกาแฟเชอร์รี่เอง ซึ่งสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนเครื่องกะเทาะกาแฟเชอรี่ และเครื่องคั่วกาแฟจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ และได้เริ่มทดลองรวบรวมกาแฟเชอร์รี่นำมาแปรรูปเองทั้งกระบวนการ เพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปกาแฟของสหกรณ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งสหกรณ์ได้รับคำแนะนำจาก Mr.Kuramoshi ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ในการแปรรูปกาแฟฮันนี่ โดยผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้ให้คำแนะนำผ่านการประชุมทางไกลทุกเดือน
นอกจากนี้ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ยังได้ประสานงานกับกรมวิชาการเกษตร และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ทำการฝึกอบรมให้ความรู้แก่สหกรณ์ในการแปรรูปกาแฟ การพัฒนาการแปรรูปเบื้องต้นของสมาชิก รวมทั้งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่พัฒนาคุณภาพกาแฟ ทำให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับการพัฒนาตลอดกระบวนการผลิตและการแปรรูปสามารถยกระดับการดำเนินธุรกิจกาแฟให้มีอัตลักษณ์เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษของสหกรณ์ และในเดือนพฤษภาคม 2565 การปฏิบัติงานในพื้นที่จะสิ้นสุด แต่ยังคงการดำเนินงานในการติดตามผลการพัฒนาการผลิตและการแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นสหกรณ์ต้นแบบในการขยายผลให้กับสหกรณ์อื่นต่อไป
ในการนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบป้ายเงินอุดหนุนให้กับสหกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนาจำกัด และสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ด จำกัด และมอบใบประกาศให้กับสมาชิกสหกรณ์ที่ผลิตกาแฟคุณภาพ จำนวน 3 ราย ที่ได้คะแนนคัพปิ้งมากกว่า 80 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่สูงและมีโอกาสในการพัฒนาเป็นกาแฟสำหรับส่งประกวดหรือประมูลได้ ได้แก่ นายอนันต์ พรหมเมตจิต นายเสถียร คำหล้า และนายประสิทธิ์ ขุ่ยอาภัย จากนั้นได้เยี่ยมชมโรงคั่วกาแฟของสหกรณ์ฯ และชมกระบวนการกะเทาะเปลือกผลสดกาแฟเชอรี่ด้วยอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจกาแฟของสหกรณ์ และได้เยี่ยมชมการดำเนินงานร้านกาแฟของสหกรณ์ฯ อีกด้วย
จากนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงเกษตรของ นายวรชัย ทองคำฟู อายุ 41 ปี หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตร 23 ไร่ ในตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เดิมเคยทำงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และได้ลาออกมาเพื่อทำธุรกิจที่บ้านที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปผลไม้แช่อิ่ม กระเทียมโทนดอง พร้อมกับบริหารจัดการพื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบของวนเกษตร เริ่มจากการเข้าร่วมอบรมการจัดการสวนป่า โดยใช้หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาพลิกฟื้นผืนแผ่นดินของตนเอง ผนวกกับนำองค์ความรู้จากการเรียนเกษตรมาช่วยในการจัดสรรแปลง ด้วยพื้นที่เป็นที่ลาดชันจึงเกิดปัญหาการเข้าถึงน้ำในการทำการเกษตร จึงได้เลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับปริมาณการเข้าถึงน้ำของแต่ละพืช ปลูกพันธุ์ป่าที่ได้รับอนุญาต เช่น มะขามป้อม ไผ่กิมซุง ฯลฯ นำมาแปรรูป เช่น กิ่งไม้ในแปลงเอามาใช้เป็นฟืน นำมะขามป้อมป่ามาดองเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งมีการถ่ายทอดให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจและมีการบรรยายขยายผลในเรื่อง การจัดการแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในอนาคตอยากให้แนวความคิดของตนเองให้ขยายกับเกษตรกรที่สนใจในการทำเกษตรแบบวนเกษตร และอาจจะมีการแปรรูปเป็น ชาผักหวาน มะขามป้อมอบแห้ง ฯ รวมทั้งมีความตั้งใจอยากจะทำให้พื้นที่ทางการเกษตรของตนเป็นเหมือนป่าชุมชน หรือ Supermarket ชุมชน ที่มีทั้งพืชผักท้องถิ่น ไว้กินไว้ขายตลอดทั้งปี และยังใช้องค์ความรู้จากการเรียนทางการเกษตรนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกพืชผักต่าง ๆ ในพื้นที่ของตนและยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้และทดลองของผู้เข้าร่วมโครงการฯ มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ของตนเองให้เกิดมูลค่าเพิ่ม พร้อมมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในเรื่องของต้นทุนการผลิตและเทคโนโลยีในการผลิตผนวกกับช่องทางการตลาดในปัจจุบัน คือ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนแฟลตฟอร์มต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี ทำให้มีช่องทางการตลาดและมียอดขายที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการนำสินค้าวางขายในห้างสรรพสินค้า ตลาดจริงใจมาร์เก็ต และการออกบูธแสดงสินค้าอีกด้วย

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »