เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17.30 น. ณ บริเวณ ข่วงเมืองน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายบรรจง ขุนเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว” จังหวัดน่าน ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สร้างสุขปลอดภัย ไร้ความรุนแรง” (ACT NOW to end Violence Against Women and Girls) โดยมีนางปิยะนาถ พูนพิพัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน เป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมี สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ เครือข่าย อพม.เครือข่ายสตรี , เครือข่ายรักไทย , กลุ่มชาติพันธุ์ , นักเรียนโรงเรียนสตรีศรีน่าน และทีมงาน พม.หนึ่งเดียวน่าน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน กว่า 500 คน ได้ร่วมกัน Kick off เดินรณรงค์ยุติความรุนแรง พร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ ต่อต้านการกระทำความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวจังหวัดน่าน ประจำปี 2567
ตามที่ กระทรวง พม. ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) และมีความพยายามผลักดันนโยบายและมาตรการหลายด้าน เพื่อปกป้อง คุ้มครอง คนทุกเพศ ทุกวัย และขจัดปัญหาความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่ง พม. ได้มีการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย 5 * 5 ฝ่าวิกฤตประชากร จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ 1 เสริมพลังผู้สูงอายุ 2 เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ 4 เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5 สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัย เสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั่วถึง เป็นธรรม
กระทรวง พม. มีศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ โดยเริ่มตั้งแต่การรับแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือหากเกิดความรุนแรงในครอบครัว การเข้าสู่กระบวน
การทางกฎหมาย การวางแผน การดำเนินงานช่วยเหลือ ประสานงานให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือคุ้มครอง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวและผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ
ด้าน นางปิยะนาถ พูนพิพัฒน์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดน่าน ปัญหาความรุนแรง ต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่ส่งกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งในปี 2567 จังหวัดน่าน มีเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งสิ้น 61 ราย เป็นดับที่ 8 ของประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุด คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง สามีภรรยา จำนวน 38 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.29 รองลงมาได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร จำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.59 ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง อันดับหนึ่ง คือ ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ ความรู้สึกเชิงอำนาจ การหึงหวง ปัญหาสุขภาพจิต หรือความเครียดทางเศรษฐกิจ ก็ล้วนเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งผู้ที่กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นเพศชาย สถานะเป็นสามี หรือเป็นพ่อ
สำหรับช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือกรณีถูกกระทำความรุนแรง หรือพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว หากพบเห็นหรือถูกกระทำความรุนแรงขออย่านิ่งเฉย สามารถแจ้งมาได้ที่ ศรส. โทร 1300 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง หรือระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS Help Me ผ่านแอปพลิเคชันไลน์แจ้งเหตุเชื่อมโยงกับสถานีตำรวจตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ
@@@@@@@@@
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น จ.น่าน