กรมป่าไม้ เข้าแจ้งความกล่าวโทษ ประเด็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก

0
(0)
image_print

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 คณะเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า(ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) กรมป่าไม้ , เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ , เจ้าหน้าที่ส่วนป้องกันและกิจการพิเศษ , เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง , เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปทส. ภายใต้การอำนวยการของนายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้

โดยประสานการปฏิบัติร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กก.1 บก.ปทส.) อำนวยการโดย พล.ต.ต. พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส. คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมกันออกไปดำเนินการตรวจสอบกรณีการก่อสร้างท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ติดต่อโฉนดที่ดินเลขที่ 4295 ตำบลบางกระบือ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ตามที่ได้รับการประสานจากสถานีตำรวจนครบาลบางโพ แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
ตามหนังสือ ที่ ตช 0015.(บก.น.1)(11)/766 ลงวันที่ 16 กันยายน 2563 เรื่อง ให้ส่งตัวแทน
เพื่อเตรียมความพร้อมนัดหมายวันเวลาเข้าร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุและสอบปากคำในคดีอาญา ตามประเด็นดังนี้

  1. การปลูกสร้างท่าเทียบเรือดังกล่าวต้องขออนุญาตอธิบดีกรมป่าไม้หรือไม่ หากต้องขออนุญาตแล้ว ได้มีการขออนุญาตต่ออธิบดีกรมป่าไม้หรือไม่ และอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่ อย่างไร
  2. การปลูกสร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำแม่น้ำที่เกิดเหตุดังกล่าวเป็นการปลูกสร้างเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนหรือผู้อื่นในที่สาธารณประโยชน์ ตามพ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือไม่ อย่างไร
    คณะพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจสอบจากเอกสารหลักฐานที่ส่งมาพร้อมหนังสือสถานีตำรวจนครบาลบางโพ ดังกล่าวข้างต้น พบว่าท่าเทียบเรือดังกล่าวมีใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ใบอนุญาตเลขที่ 18/2544 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ออกตามความในมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ(ตรวจสอบพบชื่อผู้ขออนุญาตระบุชื่อ พล.ต.ท. เสรี เตมียเวส ในขณะนั้น) พุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือฯ (ฉบับ 14) พ.ศ.2535 มีขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส และมีขอบเขตขนาดความกว้าง 10.35 เมตร ความยาว 21.35 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 0-0-55.24 ไร่ จากนั้นได้โดยสารเรือพาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงบริเวณพื้นที่ที่จะดำเนินการตรวจสอบ ตรวจพบ
    มีท่าเทียบเรือดังกล่าวข้างต้นอยู่จริง คณะเจ้าหน้าที่ได้จอดเรือลอยลำบริเวณข้างเคียงท่าเทียบเรือดังกล่าว
    เพื่อตรวจสอบค่าพิกัด พบเป็นตำแหน่งเดียวตรงกับแบบเอกสารคำขออนุญาตก่อสร้างสิ่งลวงล้ำลำน้ำ ที่ยื่นต่อ
    กรมเจ้าท่า ตามใบอนุญาต เลขที่ 18/2544 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 จากการแปลภาพถ่ายทางอากาศ
    และภาพถ่ายดาวเทียมในปี พ.ศ.2544 พบว่า ยังไม่ปรากฏการก่อสร้างท่าเทียบเรือแต่อย่างใด และต่อมา
    ปี พ.ศ.2545-2546 พบมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือแล้ว ซึ่งภาพถ่ายปัจจุบัน พ.ศ.2563 ยังปรากฏท่าเทียบเรือดังกล่าวอยู่ ซึ่งเป็นการยึดถือหรือครอบครองมาอย่างต่อเนื่อง
    ข้อกฎหมาย
    (1) พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเอง หรือผู้อื่น เว้นแต่จะกระทำภายในเขตที่ได้จำแนกไว้เป็นประเภทเกษตรกรรม และรัฐมนตรี ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่”
    (2) บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 121/2555 ได้พิจารณาและให้ความเห็น
    บทนิยามคำว่า “ป่า” ตามมาตรา ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ประกอบกับการได้มาซึ่งที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน “ป่า” จึงหมายถึงที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์หรือได้สิทธิครอบครอง ซึ่งรวมไปถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ชายตลิ่ง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่เป็นที่ดินของรัฐด้วย และแม้บทนิยามคำว่า “ที่ดิน” มาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มิได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าให้หมายความรวมถึงแม่น้ำด้วย แต่เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “แม่น้ำ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งหมายถึง ลำน้ำใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมของลำธารทั้งปวง “แม่น้ำ” จึงเป็นลำน้ำใหญ่และถือเป็นส่วนหนึ่งของความหมายของบทนิยามคำว่า “ที่ดิน”
    ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
    (3) จากตรวจสอบการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งสำนักการอนุญาตได้มีหนังสือกองการอนุญาต ด่วนที่สุด ที่ ทส 1602.43/530 ลงวันที่
    9 กุมภาพันธ์ 2564 เรื่อง ขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน และขอให้เจ้าหน้าที่ให้ถ้อยคำ แจ้งว่า ไม่พบเรื่องราวคำขออนุญาตในกรณีการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตป่า เพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ติดกับโฉนดที่ดินเลขที่ 4295 ตำบลบางกระบือ อำเภอบางซื่อ กรุงเทพมหานคร แต่อย่างใด
    ทั้งนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า การกระทำดังกล่าวข้างต้นเป็นการกระทำผิดตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 54 ฐาน “ก่อสร้าง หรือยึดถือ หรือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 ตรี คณะเจ้าหน้าที่ได้มอบหมาย นายธีรวัฒน์ แย้มสะอาด เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน นำบันทึกแจ้งความกล่าวโทษ พร้อมเอกสารหลักฐาน เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมอบหมายให้นายคม ศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 1 ภาคกลาง เป็นพยาน

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »