ปางช้างแม่สานำ “ช้าง 11 เชือก” นวดข้าว ปีที่ 2 เลี้ยงช้าง สู้พิษโควิด – 19 ดึงนักท่องเที่ยวฟื้นฟูเศรษฐกิจท่องเที่ยวภาคเหนือ​

0
(0)
image_print

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 เวลา 09.30 น. นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารและเจ้าของปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นำช้างในปางช้างแม่สา ร่วมกับควาญช้าง นำช้างจำนวน 11 เชือกมานวดข้าว แยกไว้ส่วนหนึ่งสำหรับช้าง และพนักงานในปางช้างก็นวดข้าวพร้อมกันด้วย ก็แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง หลังจากที่พนักงานในปางช้างและควาญช้างได้รวมกันเกี่ยวข้าวที่ปลูกในปางช้างไว้ประมาณ 10 ไร่แล้ว ซึ่งข้าวดังกล่าวทั้งหมดจะนำไปเลี้ยงช้างจำนวน 70 เชือกในปางช้างแม่สา และยังนำข้าวดังกล่าวไปเลี้ยงพนักงานในปางช้างแม่สาทั้งหมดด้วย

นางอัญชลี บอกเล่าให้ฟังว่า สำหรับ ปางช้างแม่สา ก่อตั้งโดยนายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้เป็นพ่อของตน ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 รวมเป็นระยะเวลา 45 ปีจนถึงปัจจุบัน โดยมีนางอัญชลี กัลมาพิจิตร ทายาทคนโตเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของบริษัท ปางช้างแม่สา จำกัด ด้วยความที่บริษัทฯเป็นเจ้าของช้างเองทุกเชือก จึงทำให้การบริหารงานปางช้างแม่สาเป็นการบริหารแบบเอกชน 100%

ก่อนหน้าที่จะมีปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นนั้น ปางช้างแม่สาเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆของประเทศไทย เคยได้รับมาตรฐานปางช้างประเทศไทยเป็นแห่งแรกจากกรมปศุสัตว์ และเคยได้รับมาตรฐานไอเอสโอ 2001 เวอร์ชั่น 2000 เป็นแห่งแรกของโลก รวมถึงเคยโด่งดังจากการบันทึกสถิติโลกกินเนสเวิลด์เรคคอร์ดในเรื่องรูปวาดโดยฝีมือช้างที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ( 1.5 ล้านบาท ) โดยที่ผ่านมากว่า 40 ปี ปางช้างแม่สาได้มีการแสดงช้างถึงวันละ 3 รอบ รวมถึงมีบริการการนั่งบนแหย่งช้าง และอื่นๆอีก เคยสร้างรายได้มหาศาลจากการหลั่งไหลเข้าชมปางช้างของนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทำให้ปางช้างมีรายได้เพียงพอต่อการประกอบกิจการปางช้างและการเลี้ยงดูช้างจำนวนทั้งหมด

แต่ในปัจจุบันเราได้ลดขนาดองค์กรลงจนเหลือพนักงานทั้งหมดแค่ 108 คน (จาก 330 คน) แต่เรายังคงมีจำนวนช้างที่ต้องเลี้ยงมากถึง 70 เชือก และเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงถึงประมาณ 2.5 ล้านบาท แม้ว่าจะลดขนาดลงอย่างเต็มที่แล้วการบริหารงานในช่วงที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นเวลาประมาณสองปีนั้น เราต้องใช้เงินของบริษัทฯไปจนหมด และยังต้องกู้เงินธนาคารมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมแล้วกว่า 50 ล้านบาท เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูช้างด้วยหญ้าสดวันละ 9-10 ตันทุกวัน รวมถึงอาหารเสริม ประเภทข้าวเหนียวนึ่ง อาหารเม็ดของซีพี ผลไม้ กล้วยอ้อย ยาสมุนไพร ยารักษาโรค เวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน, คนเลี้ยงช้าง(ควาญช้าง) และนายสัตวแพทย์ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆของบริษัทฯอีกมากมาย

ผลกระทบของโรคไวรัสโควิด -19 ทำให้ปางช้างแม่สาต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของปางช้างใหม่เป็นแบบนิวนอมอล เพื่อป้องกันการระบาดของโรค โดยได้ประกาศยกเลิกการแสดงช้าง รวมถึงยกเลิกการนั่งช้างบนแหย่งช้าง, การนั่งช้างทุกประเภทและหันมาเริ่มต้นปลดโซ่ช้าง ให้อิสรภาพช้าง เลี้ยงช้างแบบเข้าฝูง เลี้ยงช้างแบบมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ช้างมีเวลาและมีความสุขสบายมากขึ้น ในส่วนของสถานที่เราก็ลดขนาดของปางช้างลง และนโยบายที่สำคัญที่สุดของการบริหารงานแบบนิวนอมอล คือการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมช้างฟรี ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ และการขาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้

ปัญหานี้เองที่ทำให้ปางช้างแม่สาต้องหันไปเน้นประชาสัมพันธ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มมากขึ้น การเข้าชมฟรี สร้างรายได้เป็นศูนย์ในเรื่องค่าเข้าชม ปางช้างแม่สามีรายได้เพียงการจำหน่ายตะกร้าผลไม้ กล้วยอ้อยในราคาตะกร้าละ 100 บาท ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆในแต่ละเดือน จำนวน 2.5 ล้านบาท เราจึงต้องหาวิธีในการลดค่าให้จ่ายลงให้มากที่สุด และสิ่งที่เราค้นพบสิ่งหนึ่ง คือการแบ่งพื้นที่เลี้ยงช้างมาทำเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักเลี้ยงคน และปลูกข้าวเหนียวเลี้ยงช้าง

ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่เราได้ “ทำนา ปลูกข้าวเหนียวพันธุ์สันป่าตอง” จำนวนกว่า 10 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีความปลอดภัยต่อช้างเลี้ยงของเรา และข้าวนั้นสามารถเก็บเกี่ยว นำไปนวด นำไปสีให้ได้ปริมาณข้าวเหนียว ที่นำไปนึ่งให้ช้างกินได้หลายเดือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลักแสนบาท โดยกิจกรรมที่โดดเด่นของเราคือการนำช้างมามีส่วนร่วมกับทีมงาน นับตั้งแต่เริ่มลงนาปลูกข้าว จนถึงวันที่จะทำการนวดข้าว เราให้ช้างที่ไม่มีงานทำ หรือช้างตกงานของเรา ได้ช่วยกันขนข้าวมายังลานนวด และในการนวด เรายังให้ช้างได้ย่ำไปบนข้าวเพื่อน้ำหนักตัวช้างจะกดลงไป ทำให้ข้าวหลุดจากรวงและร่วงลงสู่ด้านล่าง จากนั้นเราสามารถเก็บข้าวเปลือก นำไปตำ หรือนำไปสีต่อได้เพราะหนึ่งแรงช้างเท่ากับ 3 – 4 แรงควาย และวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวันนี้วันที่ 25 พ.ย.2564 คือการเล็งเห็นถึงสามัคคีของทั้งคนและช้าง ให้เห็นว่าช้างสามารถช่วยงานเราในส่วนที่เขาพอจะทำได้ และเกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น ที่อำเภออมก๋อย เขาก็นำช้างไปช่วยไถนา ทำให้งานไถนานั้นเสร็จเร็วขึ้น

นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารและเจ้าของปางช้างแม่สา กล่าวต่ออีกว่า โดยในวันนี้ ปางช้างแม่สาได้นำช้างจำนวน 11 เชือกเข้าร่วมทำกิจกรรม ขนข้าวมายังลานนวด และในการนวด ประกอบไปด้วย พลายน้อย อายุ 35 ปี น้ำหนัก 3,483 กิโลกรัม (ควาญนายกร กว่าง)​, พังพรทิพย์อายุ 67 ปี น้ำหนัก 2,805 กิโลกรัม (ควาญนายจีแช), พลายหนึ่ง อายุ 39 ปี น้ำหนัก 3,305 กิโลกรัม (ควาญนายจ่ายส่วย ไอ้สาร), พังมาอายุ 55 ปี น้ำหนัก 2,833 กิโลกรัม (ควาญนายซออิ), พลายทองทวี อายุ 17 ปี น้ำหนัก 2,500 กิโลกรัม (ควาญนายตะวา สมบูรณ์), พังออร์ก้า อายุ 11 ปี น้ำหนัก 1,645 กิโลกรัม (ควาญผู้ดูแลนายกำจร ตะติยา), พลายดอย อายุ 8 ขวบ น้ำหนัก 1,890 กิโลกรัม (ควาญผู้ดูแลนายหวัง บากน้อย), พลายขุนศึก อายุ 4 ขวบ น้ำหนัก 1,265 กิโลกรัม (ควาญนายแดง ละปาน), พังเอื้องคำ อายุ 4 ขวบ น้ำหนัก 945 กิโลกรัม (ควาญนายแหลง ไอ้สาร), พังน้ำทิพย์ อายุ 3 ขวบ น้ำหนัก 860 กิโลกรัม (ควาญผู้ดูแลนายมอญ ละปาน)​ และ พลายบานเย็น อายุ 73 ปี น้ำหนัก 3,115 กิโลกรัม (ควาญผู้ดูแลนายเนบู)​

ซึ่งข้าวเปลือก มีคุณค่าทางอาหารให้วิตามินชนิดต่างๆ มากกว่าข้าวเหนียวนึ่ง แต่การกินข้าวเปลือกต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะเนื่องจากจะมีการพองตัวของเมล็ดข้าว (การพองตัวทำให้ช้างอิ่มท้องได้ดี) แต่ส่วนของเปลือกอาจไปติดตรงลำคอช้างได้ “ข้าวเหนียวนึ่ง” อาจให้ประโยชน์น้อยกว่า “ข้าวเปลือก” เนื่องจากจะให้คุณค่าเฉพาะคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลเท่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าช้างที่ “ปางช้างแม่สา” ส่วนใหญ่ชอบกินข้าวเหนียวนึ่งใส่เกลือ ที่มีรสชาติอร่อยและกินง่ายกว่า โดยเฉพาะช้างชราที่ไม่มีฟันแล้ว จะค่อยๆกลืนได้เลย ในอดีต ‘ข้าวเปลือก” อาจใช้บำรุงสุขภาพช้างพลาย ที่ต้องการให้เป็นพ่อพันธุ์ จะดีมาก ทำให้ช้างมีแรง

นางอัญชลีกล่าวอีกว่า “ช้างไทย” ในวันนี้ยังคงเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติ ที่ถูกผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และพิษของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ทำให้ “ช้าง” ทั่วประเทศพากันตกงาน ไม่มีรายได้ อยู่อย่างอดอยาก ป่วยมากขึ้น และล้มตายมากขึ้น เราอยากวอนให้รัฐบาลและคนไทยทุกคน หันมาให้ความสำคัญ เล็งเห็นถึงปัญหาและเข้าใจปัญหาของ “ช้าง” เหล่านั้น เราจะช่วยเหลือ “ช้าง” อย่างไรให้ “ช้างไทย” อยู่รอดไปได้นานที่สุด เราทุกคนควรหันหน้ามาร่วมกันแก้ไขและสานต่องาน “อนุรักษ์ช้างไทย” อย่างเป็นรูปธรรมไปด้วยกันให้เร็วที่สุด ในขณะที่ปัญหาการท่องเที่ยวยังไม่เสถียร และคงต้องใช้เวลาอีกนานมาก นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารและเจ้าของปางช้างแม่สา กล่าวในตอนท้าย.

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »