กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั้งตำบลนาคอเรือ ทำหนังสือถึงนายกฯ ค้านโครงการผันน้ำยวม ระบุกังวลใจ 5 ข้อ เครือข่ายภาคประชาชน-สิ่งแวดล้อมแม่ฮ่องสอนแนะยกเลิก EIA ฉบับร้านลาบ วิจารณ์แซดประชาชนเข้าถึงข้อมูลยากหลัง สผ.แจ้งต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสาร-รับรองสำเนานับหมื่นบาท

0
(0)
image_print

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทั้งหมดของตำบลนาคอเรือ 9 คนและผู้ใหญ่บ้านตำบลฮอด 1 คน ได้ร่วมกันลงนามส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อแสดงความกังวลใจและต่อผลกระทบจากโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล

ทั้งนี้ในจดหมายถึงนายกฯ ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำภูมิพล แนวผันน้ำยวม และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปนั้น พวกตนในฐานะกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ รู้สึกมีความกังวลต่อผลกระทบของโครงการ ดังนี้ 1. กระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนและความเห็นต่างๆ ของประชาชนไม่ได้รับการพิจารณาในรายงาน EIA 2. ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรู้ถึงผลดีหรือผลเสียของโครงการอย่างแท้จริง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม แต่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกลับถูกกีดกันอยู่วงนอก

เนื้อหาในจดหมายระบุต่อว่า 3. ชาวบ้านจำนวนมากของ อ.ฮอด ผ่านประสบการณ์ที่เจ็บปวด จากการถูกเวนคืนที่ดินเมื่อครั้งก่อสร้างเขื่อนภูมิพลมาแล้ว จวบจนปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปแล้วกว่า 50 ปี การชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นหากมีการดำเนินโครงการผันน้ำยวมมาอีก จะทำให้พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนต้องได้รับผลกระทบอีก เท่ากับเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านเป็นครั้งที่สอง 4. ชาวบ้านจำนวนมากในพื้นที่ต่างได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ การที่มีโครงการขนาดใหญ่ เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาและผืนป่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์และการเกษตร ซึ่งขณะนี้ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว ยังมีผืนป่าเป็นฐานทรัพยากรในการเลี้ยงชีพ 5. ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีวิถีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับธรรมชาติ และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามผันน้ำข้ามลุ่ม ซึ่งเป็นข้อห้ามเด็ดขาด ที่บรรพบุรุษสั่งสอนกันมา เพราะอาจทำให้เกิดอาเพศ

“ด้วยเหตุผลความกังวลเหล่านี้พวกเราจึงขอเสนอให้มีการชะลอโครงการออกไปเพื่อให้มีการศึกษา อย่างรอบคอบ และฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง” หนังสือระบุ

ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 27-28 กันยายน ที่บ้านเคียงดอย รีสอร์ท องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดได้มีการจัดเวทีสมัชชา “สานพลังพลเมือง สร้างแม่ฮ่องสอนสู่เมืองพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรม” ภายหลังเสร็จสิ้น เครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน เครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพลเมืองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล

แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่กรมชลประทานได้เร่งผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นโครงการชุดที่ประกอบด้วยเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม อาคารสูบน้ำ อุโมงค์ผันน้ำ และสายส่งไฟฟ้า มูลค่า 71,000 ล้านบาท โดยมีโฆษณาชวนเชื่อให้กับชาวนาภาคกลางว่า จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งของชาวนาภาคกลางกว่า 1.6 ล้านไร่นั้น เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน รายงาน EIA ของโครงการนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และเตรียมนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอแถลงคัดค้านการเดินหน้าผลักดันโครงการนี้

แถลงการณ์ระบุเหตุผลของการคัดค้านโครงการว่า 1. การจัดทำ EIAขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยมาให้ข้อมูลแก่ประชาชนในพื้นที่ แม้จะเคยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็จำกัดเฉพาะคนบางกลุ่ม และจัดในตัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป ทำให้ชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าร่วม 2. โครงการนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติสำหรับดำรงชีพ การที่มีโครงการขนาดใหญ่ ที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  1. พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำ กล่าวคือ ปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีมากถึง 26,288.42 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ในขณะที่ประมาณความต้องการใช้น้ำของทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยามีเพียง 11,377.34 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียงร้อยละ 43.28 ของปริมาณน้ำท่าที่มีอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่มีปัญหาว่าระบบการจัดเก็บน้ำ สามารถจัดเก็บได้เพียง 8,761.5 ล้าน ลบ.ม.หรือเพียงร้อยละ 33.33 ทำให้ยังขาดแคลนน้ำอีกประมาณ 2,800 ล้านลบ.ม. ดังนั้น โจทย์คือจะบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ที่มีปริมาณมหาศาลให้เพียงพอต่อความต้องการทั้งปีได้อย่างไร ไม่ใช่จะหาน้ำที่อื่นมาเติมได้อย่างไร
  2. โครงการนี้ อาจจะนำไปสู่การแย่งชิงน้ำจากคนชายขอบไปให้แก่นายทุน ทำให้คนต้นน้ำถูกจำกัดสิทธิในการใช้น้ำ และชาวนาภาคกลางไม่มีสิทธิได้ใช้น้ำที่ผันได้จากโครงการนี้ ตามที่อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ระยะเวลา 10 ปี (ปี 2564-2574) โดยโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล ก็เป็นหนึ่งในในการพัฒนาโครงข่ายน้ำที่จะนำไปช่วยพื้นที่อีอีซี

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ได้ระบุข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1. เพิกถอน EIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และยุติการผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล 2. ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคกลาง โดยการออกแบบการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบซึ่งต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ความเข้าใจต่อระบบนิเวศน์ และจะต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาแต่ละอย่าง เพื่อวางแผนจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำปริมาณมหาศาลที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อน เพื่อจัดเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีและวิศวกรรม ลงทุนสร้างระบบจัดเก็บและควบคุมน้ำที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และไม่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์

วันเดียวกันได้มีการจัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “การเข้า (ไม่) ถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ สิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนต้องจ่ายเงินซื้อ” ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เครือข่ายชาวบ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเครือข่ายภาคอีสานทำหนังสือขอ EIA จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แต่ได้รับแจ้งว่าต้องจ่ายค่าถ่ายเอกสารและรับรองสำเนานับหมื่นบาท

นายสะท้าน ชีวะวิชัยพงศ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่าโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลเป็นโครงการขนาดใหญ่ และชุมชนได้ติดตามการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้น โดยพื้นที่ลุ่มน้ำยวม เป็นป่าต้นน้ำ ชาวบ้านในชุมชนมีความพยายามที่จะอนุรักษ์พื้นที่ไว้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ป่ารอยต่อเชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัด โดยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการผันน้ำยวม เนื่องจากการก่อสร้างปากอุโมงค์และสถานีสูบน้ำเป็นบริเวณที่ชุมชนอยู่อาศัย ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับทราบข้อมูลมาก่อนเลย มาทราบตอนที่มีการจัดทำรายงาน EIA ชาวบ้านไม่ได้เข้าใจการทำ EIA เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์

นายศิริศักดิ์ สะดวก เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน กล่าวว่ามีข้อสังเกตถึงโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้งบประมาณสูงมาก ไม่ต่างจากโครงการผันน้ำยวม โดยโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เดิมเคยมีอยู่แล้ว และเกิดผลกระทบกับระบบนิเวศและสังคม เมื่อเกิดผลกระทบชาวบ้านก็ต้องออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา

“กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบไม่เคยได้รับข้อมูลมาก่อน หน่วยงานรัฐเองไม่ได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความจริง เช่น การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการจัดเวทีก็มีเอกสารให้เฉพาะกลุ่มที่มีความเห็นสนับสนุนโครงการฯ และไม่ได้มีรายละเอียดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศเท่าที่ควร พวกเราจึงได้ปรึกษาหารือกัน นำมาสู่การขอสำเนา EIA จาก สผ.ซึ่งได้รับแจ้งค่าใช้จ่ายในการขอข้อมูล มีคำถามว่า สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนมีความยากขนาดนี้ ทั้งที่ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการ กลายเป็นว่าประชาชนจะต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูล นับหมื่นบาท”นายศิริศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากศุนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า กรณีการขอ EIA ผันน้ำยวม คำว่าถมดำ เป็นคำของหน่วยงาน ไม่ใช่ภาษาของเรา และรายงานที่ได้มานั้นส่วนใหญ่นั้นคาดดำจำนวนมาก กรณีการคาดดำชื่อและใบหน้าของคนในภาพ ปกติการเข้าถึงรายละเอียดของ EIA เป็นภาษาเชิงเทคนิค ซึ่งยากอยู่แล้ว และหากมีการเข้าถึงช้าจะทำให้ระยะเวลาในการตรวจสอบของประชาชนยิ่งน้อยลงไปอีก

“ชาวบ้านแม่ฮ่องสอนได้ทำหนังสือถึงกรมชลประทาน เพื่อขอ EIA แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของเจ้าของโครงการจะต้องเผยแพร่ กรณีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องการค้า แต่คิดภาษีจากประชาชนได้อย่างไร ปัญหาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คือ ภาษา เทคโนโลยี ระยะทาง และค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ เมื่อมีการวินิจฉัยแล้วว่า เป็นข้อมูลของรัฐ ไม่ควรคิดค่าใช้จ่าย” นางสาว ส. กล่าว

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »