เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 มีรายงานความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือที่รู้จักกันในชื่อโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล มูลค่า 7.1 หมื่นล้านบาทซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าล่าสุดจะมีการนำเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 15 กันยายน 2564 ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีการเร่งรัดขั้นตอนเพราะอีไอเอของโครงการนี้เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะผู้ชำนาญการเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ขณะที่มีโครงการจำนวนมากที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่กลับถูกแซงคิว ทั้งนี้ภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆได้ร่วมกันรณรงค์ไม่เอาโครงการดังกล่าวโดยการถือป้ายคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ
นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง รองผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และกองเลขาเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคเหนือ (คปน) กล่าวว่า สมาชิกของ คปน.ต่างไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล เนื่องจากมีผลกระทบมากมายและการจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อมมีความไม่ชัดเจนในหลายจุด และในบางเรื่องยังไม่ใช่ความจริงของพื้นที่ ดังนั้นเครือข่ายหลายองค์กรจึงพร้อมผนึกกำลังร่วมสู้กับพี่น้องภาคส่วนต่างๆคัดค้านอีไอเอ อันเป็นเท็จ เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหยุดและยกเลิกการพิจารณาอีไอเอโครงการนี้ซึ่งพบข้อบกพร่องทั้งฉบับ และจะส่งหนังสือคัดค้านถึง พลเอกประวิทย์ อย่างเร่งด่วน
“ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ พร้อมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน นักอนุรักษ์และชาวบ้าน ค้านโครงการผันน้ำยวม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น การนำดินจากการขุดเจาะอุโมงค์ปริมาณมหาศาล มากองวางทับที่ทำกินของชาวบ้านและทำลายพื้นที่ป่า และชุมชนในพื้นที่อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่”นายสายัณน์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.อรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวว่า จริงๆแล้วขณะนี้เกิดคำถามหลายโครงการผันน้ำ เพราะการผันน้ำเข้าเขื่อนสะท้อนให้เห็นว่า เขื่อนไม่มีน้ำจึงต้องหาน้ำมาเติมและผันน้ำจากลุ่มอื่นเข้ามา แสดงว่าการสร้างเขื่อนไม่ประสบผลตามเป้าหมาย อย่างกรณี อีไอเอของโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมก็มีหลายจุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จนถูกเรียกว่าอีไอเอร้านลาบ ทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใสว่ามีมากน้อยแค่ไหน
หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดความข้องใจเกี่ยวกับมาตรณฐานตรวจสอบหรือการจัดทำรายงานอีไอเอว่าข้อมูลถูกต้องหรือไม่ เพราะในหลายโครงการพบความผิดพลาดมากกมาย ถามว่าโครงการเหล่านี้ผ่าน คชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้อย่างไร ในเมื่อข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทำให้เราถามถึงจริยธรรมของการทำอีไอเอว่าได้มีการตรวจสอบแค่ไหน
“อยากให้มีการปฎิรูประบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความโปร่งใ ตรวจสอบได้ และขอให้ยกเลิกโครงการเก่าๆที่ศึกษามา 20-30 ปีก่อนแล้วนำมาปัดฝุ่นใหม่ เพราะไม่แน่ใจว่ามีความเหมาะสมกับสภาพในปัจจุบันหรือไม่ ควรเริ่มศึกษาใหม่ ที่สำคัญคืออยากให้มีนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้ามาร่วมศึกษาด้วย เพราะหลายพื้นที่โครงการสร้างไปแล้วแต่ในหลายเขื่อนกลับไม่มีน้ำ เราไม่ได้ปฎิเสธการพัฒนา แต่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย”น.ส.อรพยุพา กล่าว
หัวหน้าฝ่ายวิชาการมูลนิธิสืบนาคะเสถียรกล่าวด้วยว่า การเจาะอุโมงค์ลอดผืนป่ายาวกว่า 60 กิโลเมตร หลีกเลี่ยงไม่ได้กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่เคยมองเห็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยในระบบนิเวศ และมักมองแต่สัตว์ใหญ่ เช่นเดียวกับใต้ดินที่มีแหล่งน้ำ เชื่อว่ามีผลกระทบแน่แต่ไม่ได้หยิบยกมาพูดกัน ขณะนี้มูลนิธิฯกกำลังเตรียมออกแถลงการณ์ เพื่อร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่างๆยืนยันไม่เห็นด้วยกับอีไอเอฉบับนี้
ทั้งนี้ในวันเดียวกัน นอกจากเครือข่ายภาคประชาชนในภาคเหนือแล้ว ยังมีเครือข่ายภาคประชาชนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากภาคอื่นๆ ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลและคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง โดยในภาคอีสานเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 10 องค์กร อาทิ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน กลุ่มฮักน้ำเลย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมน้ำพองและห้วยเสือเต้น ระบุว่าขอให้พิจารณาชะลอการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและการอนุมัติโครงการผันน้ำยวม ออกไปก่อน เพื่อเป็นการเคารพสิทธิของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และขอให้มีการแก้ไขรายงานโดยเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการที่จะเกิดขึ้นจริง
ในส่วนของภาคใต้ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเช่นเดียวกัน โดยมีการออกแถลงการณ์คัดค้านจากกลุ่มองค์กรภาคประชนในหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสังข์ กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองวังหีบ กลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ระบุว่า โครงการผันน้ำยวมเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงจากการเจาะอุโมงค์ผันน้ำกว่า 61 กิโลเมตร รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อพี่น้องที่อยู่บริเวณใกล้เคียง พี่น้องชาติพันธ์ ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงและไม่มีความจริงใจในการเข้าไปรับฟังความคิดเห็น และโครงการนี้เป็นการลงทุนจำนวนมากกว่า 71,000 ล้านบาท และยังมีค่าใช้จ่ายตลอดโครงการจึงไม่มีความคุ้มค่า แม้แต่น้อย