พ่อเมืองแพร่รุดตรวจสอบ!!พระพุทธมิ่งขวัญเมืองแตกร้าวเหตุจากแผ่นดินไหว

5
(1)
image_print

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 เวลา10.00 น.นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยนางอนงค์รักษ์ กันธิยาใจ ผอ.สำนักพุทธศาสนา น.ส.ทัศนีย์ ดอนเนตร์ วัฒนธรรมจังหวัดแพร่ นายสิทธิภัทร ป่ละนันทน์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดแพร่ ได้ร่วมกันตรวจสอบความเสียหายของ “พระพุทธมิ่งขวัญเมือง” พระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 700 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา ณ พระวิหารมิ่งเมือง วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
โดยมีพระครูวิจิตรปริยัตยาทร เจ้าคณะตำบลในเวียงเขต 1ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ผอ.รร.พุทธโกศัยวิทยา
นำคณะเข้าตรวจสอบ

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า พระพุทธมิ่งขวัญเมือง ซึ่งเป็นพระประธานภายในวิหารหลวงมิ่งเมือง มีรอยแตกร้าวตั้งแต่หัวไหล่ซ้ายลงมาแขนซ้าย หน้าอก และด้านหลัง เป็นรอยร้าวยาว เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณภายในมีแกนเหล็กที่ใช้เทคนิคการตีเหล็กแบบโบราณ ทำให้เกิดความเปราะบางต่อแรงสั่นสะเทือน ทั้งนี้ ทางจังหวัดแพร่ได้ประสานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ให้เข้าตรวจสอบและประเมินความเสียหายในวันที่ 3 เมษายน 2568 เพื่อวางแผนการบูรณะต่อไป

นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า “เบื้องต้นพบว่าความเสียหายของพระพุทธมิ่งขวัญเมืองเป็นรอยแตกร้าวทางยาวจากแขนซ้ายลามถึงพระอุระและพระศอ เนื่องจากทางจังหวัดไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมโบราณวัตถุ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ประสานงานกับสำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เพื่อเข้ามาประเมินและกำหนดแนวทางการบูรณะ ทั้งนี้ ต้องรอการสำรวจและรายงานการประเมินจากสำนักงานศิลปากรก่อน จึงจะสามารถกำหนดงบประมาณและแนวทางการซ่อมแซมต่อไปได้”

ด้านพระครูวิจิตร ปริยัตยาทร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร เจริญพรว่า “พระพุทธมิ่งขวัญเมืองเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยเจ้าหลวงเมืองแพร่ แม้ว่าประวัติที่แน่ชัดจะไม่ปรากฏ แต่คาดว่าอายุมากกว่า 700 ปี ลักษณะเป็นศิลปะแพร่โดยแท้ ไม่เหมือนพระพุทธรูปที่พบในที่อื่น นอกจากนี้ วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหารเคยเป็นวัดของเจ้าหลวงเมืองแพร่ ก่อนที่จะมีการรวมวัดมิ่งเมืองและวัดพระบาทเข้าด้วยกันในปี 2492 และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหารในปี 2498 จึงถือเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญของจังหวัดแพร่” ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบและเตรียมแผนบูรณะเพื่อรักษาพระพุทธมิ่งขวัญเมืองให้อยู่คู่กับเมืองแพร่ต่อไป

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 5 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 1

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »