สมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ ททท.สำนักงานแพร่-อุตรดิตถ์และท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับ อบต.บ้านด่านนาขาม สื่อมวลท้องถิ่น สำรวจแหล่งท่องเที่ยวบ้านปางต้นผึ้ง ในโครงการ เที่ยวทางราง ปางต้นผึ้ง หัวใจสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

0
(0)
image_print


ที่สถานีรถไฟศิลาอาสน์ ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นางหทัยกาญจน์ อิภิชาติ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ นายณัฐวัฒน์ ราชประสิทธิ์ อุปสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวภัททิรา คำอภิวงศ์ รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่,อุตรดิตถ์ นายวินับ ใจกว้าง ผช.ปชส.จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้สื่อข่าว สวท.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวสื่อมวลชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการร้านอาหาร สำรวจแหล่งท่องเที่ยวบ้านปางต้นผึ้ง ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ในโครงการ เที่ยวทางราง ปางต้นผึ้ง หัวใจสีเขียว ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งคณะสำรวจได้เดินทางด้วยขบวนรถไฟขบวนที่ 407 นครสวรรค์ –เชียงใหม่ ในเวลา 09.15 น. เพื่อเดินทางไปยังสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง
เมื่อถึงสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง นายสมยศ อินบัว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านด่านนาขาม และนางสาววรรณกร คำมาก รองนายก อบต.บ้านด่านนาขาม พร้อมคณะได้ให้การต้อนรับคณะสำรวจ หมู่บ้านปางต้นผึ้ง หมู่ที่ 10 อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบ้านด่านนาขาม อยู่ห่างจากรอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ประมาณ 28 กิโลเมตร ที่มาของชื่อหมู่บ้านสันนิษฐานว่ามาจากต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “ต้นผึ้ง” ที่ผึ้งชอบมาทำรัง ในอดีตคาดว่าบริเวณแถบนี้มีต้นผึ้งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งการเดินทางมายังหมู่บ้านปางต้นผึ้งสามารถทำได้ 2 วิธี คือทางถนนและทางรถไฟ สำหรับการเดินทางโดยรถไฟมีการลงจอดที่สถานีปางต้นผึ้งขาขึ้น 2 เที่ยว คือขบวนรถธรรมดา 407 (นครสวรรค์-เชียงใหม่) และขบวนรถเร็ว 111(กรุงเทพฯ-เด่นชัย) และขาลงคือขบวนรถเร็ว 110-2 (เด่นชัย-กรุงเทพฯ) และขบวนรถธรรมดา 408 (เชียงใหม่-นครสวรรค์) พร้อมเยี่ยมชมธรรมชาติตลอด 2 ข้างทาง สัมผัสวิถีคนพื้นเมืองอย่างใกล้ชิด และเป็นการลอดอุโมงค์รถไฟ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 อุโมงค์รถไฟของประเทศไทย
หมู่บ้านปางต้นผึ้งแห่งนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น สถานีรถไฟปางต้นผึ้ง อีกหนึ่งสถานีรถไฟที่สวยงามกลางหุบเขา บรรยากาศดี บรรยากาศและภูมิทัศน์โดยรอบสวยงาม เป็นสถานีรถไฟชั้น 4 หากเดินทางจากสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง ไปยังสถานีรถไฟห้วยไร่ จะผ่านอุโมงค์จำนวน 2 แห่งคือ อุโมงค์ปางตูบขอบ ความยาว 120.09 เมตร และอุโมงค์เขาพลึง ความยาว 362.44 เมตร
สะพานรถไฟรวงผึ้ง มีลักษณะพิเศษคือ ตัวสะพานกลับหัวอยู่ด้านล่าง ซึ่งในหลักวิศวกรรมเรียกว่า Sag Truss หรือ โครงถักแบบท้องปลา ออกแบบมาให้รับน้ำหนักขบวนรถไฟ แต่ทั้งนี้มีแนวคิดของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความเชื่อว่าที่สะพานกลับหัวนั้น เพื่อเป็นการอำพรางจากศัตรู ไม่ให้ถูกทิ้งระเบิดจากเครื่องบิน
อุโมงค์น้ำลอด ในอดีตเป็นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นที่มากบดานอยู่ในพื้นที่ และได้สร้างสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยคอนกรีต ใช้เป็นช่องทางการเดินทัพ ลำเลียงคนและเสบียงอาหาร จากนั้นโดนระเบิด ตัวสะพานทลายลง เหลือแต่พื้นที่ด้านล่าง ซึ่งเป็นธารน้ำสะอาด ไหลจากหนองน้ำเขียว ผ่านเป็นธารน้ำสายเล็กๆ
ต้นผึ้งยักษ์ อายุกว่า 100 ปี มีขนาด 20 คนโอบ สูง 40 เมตร หรือตึก 4 ชั้น มีพูพอนค้ำยันลำต้น 8 พู แต่ละพูร่องลึกและสูง กว่า 2 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อน ด้วยคุณสมบัติรากที่ดูดซับน้ำได้ดี จึงทำให้สวนแห่งนี้ไม่แห้งแล้ง และกลายเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญตามร่องรอยประวัติศาสตร์ที่อยู่ในหุบเขา และสวนแห่งนี้เคยเป็นฐานทัพของทหารสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้เกษตรกร หรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษา
อุโมงค์รถไฟปางตูบขอบ ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟแรกที่เชื่อมภาคกลางกับภาคเหนือหรือในอดีตเป็นอุโมงค์รถไฟแรกที่เชื่อมสยามประเทศกับอาณาจักรล้านนา มีความยาว 120.89 เมตร สร้างในปีพ.ศ. 2452
ทั้งนี้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย เช่น จุดชมวิวเขาพลึง อุโมงค์รถไฟเขาพลึง หลุมระเบิดสงครามโลก อ่างเก็บน้ำแม่เฉย น้ำตกแม่เฉย สวนเกษตรปลูกทุเรียน ลองกอง ลางสาด ไว้ตอนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
ณัฐวัฒน์ ราชประสิทธิ์ ภาพ/ข่าวอุตรดิตถ์ 0612928668

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »