


วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.30 น. ที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ อำเภอเมืองแพร่ นายสมชัย เลิศประสิทธิ์พันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นำคณะข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดแพร่ จัดงานน้อมรำลึกเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 189 ปีชาตกาลของอดีตเจ้าหลวงเมืองแพร่ ภายในงานมีพิธีบวงสรวงเจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงเมืองแพร่ และทำบุญคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงคุณงามความดีของอดีตเจ้าหลวงเมืองแพร่ที่มีคุณูปการต่อเมืองแพร่ ตลอดจนเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวจังหวัดแพร่ โดยมีนางสาวฐิติมา สุภาพันธ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะลูกหลานเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง ในช่วงเย็นจะมีขบวนแห่เครื่องสักการะแบบโบราณล้านนา ซึ่งจัดโดยลูกหลานชาวเมืองแพร่จากทั้ง 8 อำเภอ เคลื่อนจากสี่มุมเมืองมายังคุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนถวายเจ้าหลวง โดยกลุ่มสตรีและศรัทธาชาวเมืองแพร่ จำนวน 250 คน และการแสดงแสง สี เสียง เล่าขานตำนานเจ้าหลวงเมืองแพร่ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของเมืองแพร่ให้แก่คนรุ่นหลัง
สำหรับเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ (พ.ศ. 2432 – 2445) เป็นโอรสของเจ้าหลวงพิมพิสาร และแม่เจ้าธิดา เดิมมีพระนามว่า “เจ้าน้อยเทพวงศ์” เมื่อได้รับการสถาปนาขึ้นครองเมืองแพร่ในปี พ.ศ. 2432 ซึ่งขณะนั้นเมืองแพร่ยังคงเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม ทรงได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพิริยวิไชย” ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2439 ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “เจ้าพิริยเทพวงศ์” เจ้าผู้ครองนครแพร่ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ทรงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่เมืองแพร่ในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านพระพุทธศาสนา ทรงบูรณะและซ่อมแซมวัดวาอารามสำคัญ อาทิวัดหลวง หรือวัดหลวงสมเด็จ วัดพระนอนจุฑามาส วัดสวรรค์นิเวศน์ วัดมิ่งเมือง (ปัจจุบันคือวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร) รวมถึงปูชนียสถานสำคัญของเมืองแพร่ เช่น พระธาตุช่อแฮ เป็นต้น