กรรมาธิการได้เชิญ กระทรวงสาธารณสุข สภาความมั่นคงแห่งชาติ ภาคประชาสังคม มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสุรินทร์พิศสุวรรณ เพื่อทราบถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย และเศรษฐกิจท้องถิ่น
หน่วยงานราชการที่มีพันธกิจรับผิดชอบได้ชี้แจงให้ทราบถึงสถานการณ์ล่าสุดของโรคติดต่อตามแนวชายแดนทั้งที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนและป้องกันไม่ได้ เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก และวัณโรค การตรวจสอบโรคและการป้องกันรักษาผู้ป่วยในชุมชนโดยใช้กลไกอสม. ตลอดจนโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรงพยาบาลภาคีระหว่างจังหวัด
ในขณะเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาระยะยาว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ มูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ ได้เสนอถึงการทำงานสาธารณสุขเชิงรุก โดยตีความหลักผลประโยชน์แห่งชาติใหม่ ให้มากกว่าการทำงานภายในเขตแดนของไทย และพัฒนาระบบให้เอื้อต่อการตอบสนองต่อความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขจากต่างชาติและภาคประชาสังคม เช่น การรับวัคซีนจากต่างประเทศที่มีความพร้อมและความเต็มใจที่จะบริจาค หรืออาสาสมัครแพทย์ต่างชาติ และความเป็นไปได้ในการออกใบอนุญาตแก่แพทย์ต่างชาติที่อยู่บริเวณชายแดนอยู่แล้ว เพื่อรักษาคนไข้ในพื้นที่ชายแดนที่มีปัญหาเร่งด่วน
ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข แถลงผลการประชุมเกี่ยวกับปัญหาด้านสาธารณสุขในจังหวัดชายแดน
นายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข แถลงว่า ประเทศไทยมีชายแดนติดต่อกับ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ส่วนทางภาคใต้ติดกับมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยอยู่ในระดับดีมาก แต่เมื่อมีชายแดนที่ติดต่อกัน มีการไปมาหาสู่กัน เช่น มีผู้อพยพเข้ามา ทั้งจากภัยสงครามหรือเข้ามาประกอบอาชีพในประเทศไทย ก็จะนำโรคต่าง ๆ เข้ามาด้วย โรคหลายโรคที่หายไปจากประเทศไทยแล้ว เช่น โรควัณโรค หรือโรคติดต่อหลายโรคที่เราควบคุมได้แล้ว เช่น มาลาเรีย ไข้เลือดออก ซึ่งในชายแดนยังพบโรคเหล่านี้มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาและการดูแลสุขภาพของคนต่างชาติที่ข้ามเขตเข้ามาในประเทศไทยด้วย เพราะแม้คนไทยจะมีสุขภาพดีแต่เมื่อได้รับเชื้อโรคที่หายไปแล้วในประเทศไทยก็สามารถกลับมาเป็นโรคได้อีก ประเทศไทยมีการให้วัคซีนป้องกันในหลาย ๆ โรค ตั้งแต่วัยเด็ก เช่น โปลิโอ บาดทะยัก แต่เด็กต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยยังได้รับวัคซีนเหล่านี้ไม่มากนัก ทำให้มีเชื้ออยู่ในตัว และหากมาอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากก็จะนำเชื้อเหล่านี้เข้ามาด้วย เราจึงต้องให้ความสำคัญ ต้องให้วัคซีนชาวต่างชาติที่ข้ามแดนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยเรื่องวัคซีนมีหลายประเทศและหลายองค์กรที่ยินดีสนับสนุนให้วัคซีนเหล่านี้ข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านของเราแต่อาจติดขัดกับปัญหาต่าง ๆ ทำให้ยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ คณะ กมธ. มีความเห็นว่า ชาวต่างชาติที่อพยพข้ามแดนมาอยู่ในประเทศไทย มีจำนวนมากที่เป็นผู้มีความรู้ เป็นผู้ที่เคยประกอบอาชีพด้านการสาธารณสุข อาจเคยเป็นหมอ หรือพยาบาล หากเราสามารถอนุญาตให้ชาวต่างชาติเหล่านี้ทำงานในขอบเขตที่จำกัดได้ก็จะสามารถช่วยดูแลปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ทั้งนี้ คณะ กมธ. จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมและจะลงพื้นที่ศึกษาดูงานสถานการณ์จริง อาทิ ทางภาคเหนือที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ทางภาคใต้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหากมีความคืบหน้าอย่างไรจะนำมารายงานให้ทราบต่อไป