วันที่ 26 ก.ค 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าณ อาคารเอนกประสงค์บ้านภูเงิน ตำบลแม่ปืม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา นายพิชัย เชื้องาม ผู้อำนวยการสำนักงานหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ เขต 1 ร่วมกับว่าที่ร้อยตรีกรกฎ ประเสริฐวงษ์ ปลัดจังหวัดพะเยาผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ผู้บริหารบริษัท จุลไหมไทย จำกัดประธานกลุ่มผู้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและพี่น้องเกษตรกรบ้านภูเงิน-โพธิ์ทอง เปิดงานโครงการผลักดันไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง (พะเยาโมเดล) ภายใต้แนวคิด (ไหมเหลืองภาคเหนือ ทางเลือกใหม่ รายได้ดี มีตลาดนำ
โดยการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในเขตพื้นที่ภาคเหนือได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม และได้ขยายผลสู่การทำข้อตกลงซื้อขายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันซึ่งเป็นการบูรณาการ การทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงด้านตลาด ยังเป็นการสร้างความยั่งยืนในอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร
ซึ่งจากสถานการณ์การผลิตเส้นไหมของตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้เส้นไหม ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่จะนำไปใช้ในทอผ้าและอุตสาหกรรมต่างๆ มีราคาสูงขึ้นจึงเป็นโอกาสและทางเลือกใหม่ของพี่น้องเกษตรกร ปัจจุบันพื้นที่ภาคเหนือมีเกษตรกรเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง กระจายอยู่ในจังหวัดพะเยา น่าน เชียงราย เชียงใหม่ และแพร่ ประมาณ 300 ราย มีผลผลิตรังไหมเฉลี่ย 59.40 ตัน คิดเป็นมูลค่า 11.28 ล้านบาทต่อปีสำหรับจังหวัดพะเยา เริ่มมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จากการเลี้ยงไหมหัตถกรรมแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นคนอีสานที่อพยพมาอาศัยอยู่ในจังหวัดพะเยาและได้นำเอาวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาด้วยจากนั้นได้พัฒนามาสู่การเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมรังเหลืองซึ่งทางบริษัทเอกชนได้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องตลาดรับซื้อรังไหมจะเห็นได้ว่าอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถที่จะส่งเสริมให้เป็นอาชีพหลักได้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมใช้พื้นที่น้อยเกษตรกรปลูกหม่อนเพียงครั้งเดียว สามารถเลี้ยงไหมได้หลายปีลดการตัดไม้ทำลายป่าไม้และช่วยรักษาสภาพแวดล้อมอีกด้วย
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้แก่เกษตรกร หน่วยงานและผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีด้านหม่อนไหม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ตลอดจนเป็นช่องทางในการตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพของเกษตรกร กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การซื้อขายรังไหมระหว่างเกษตรกรกับภาคเอกชน การมอบเงินปันผลให้กับผู้แทนเกษตรกรหม่อนไหม ในฤดูการผลิตปี 2566 การลงนามสัญญาซื้อขายรังไหมระหว่างเกษตรกรกับบริษัทเอกชน ในฤดูการผลิต ปี 2567 การจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กระบวนการซื้อขายรังไหม รวมถึงนิทรรศการ จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเกษตรกรจากจังหวัดพะเยา เชียงราย แพร่ น่านและเชียงใหม่ ทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่สนใจอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรมรังเหลือง เข้าร่วมงานในกว่า 500 คน