ตามที่จิงโจ้แดงเพศเมียได้หลุดออกจากส่วนแสดงโซนสัตว์ออสเตรเลีย เมื่อช่วงเข้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สวนสัตว์เชียงใหม่และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้เดินเท้าเข้าปฏิบัติหน้าที่จากฝั่งทิศเหนือไปยังฝั่งทิศใต้ และจากทิศตะวันตกสู่ทิศตะวันออกจนถึงเวลา 16.30 น. จากการปฏิบัติการค้นหาปรากฏยังไม่พบจิงโจ้แดง
เมื่อเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 นายภูพิชิต ช่วยบำรุง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้จัดเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กับเจ้าหน้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ รวมจำนวน 70 คน เข้าสำรวจบริเวณ ห้วยช่างเคี่ยนฝั่งทิศใต้ติดวังบัวบาน และทิศตะวันตกฝั่งพระธาตุดอยสุเทพ ตลอดจนถึงทิศเหนือฝั่งห้วยแม่หยวกน้อยและพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย บริเวณค่ายลูกเสือสุเทพ ห้วยตึงเฒ่า รวมพื้นที่มากกว่า 6 ตารางกิโลเมตรคิดเป็นพื้นที่มากกว่า 3,750 ไร่ ในการเข้าพื้นที่ในครั้งนี้ได้มีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน ได้แก่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ และประชาชนจิตอาสาในส่วนสวนสัตว์เชียงใหม่
นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการฯ ได้มอบหมายให้นายพิชิต ชิตมินทร์ ช่วยผู้อำนวยการฯ เป็นประธานคณะทำงานกำกับดูแสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้ โดยสวนมีความเห็นสรุปเบื้องต้นว่า ด้วยอุปนิสัยของจิงโจ้แดงมีการตื่นตระหนกง่าย อาจมีผลทำให้การทำงานของระบบอวัยวะภายในต่างๆ ผิดปกติ เนื่องจากการตกใจจะทำให้กล้ามเนื้อสลาย ก่อให้เกิดความอ่อนแอของสภาพร่างกาย สำหรับอาหารของจิงโจ้แดงจะกินอาหารประเภทพืช หญ้า ใบไม้ ต่างๆ ซึ่งอาหารประเภทเหล่านี้มีอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานฯ เช่นเดียวกันที่จิงโจ้แดงสามารถกินเป็นอาหารได้
ส่วนการเตรียมการทางด้านตรวจรักษาสวนสัตว์ฯ ได้จัดทีมสัตวแพทย์ นักวิจัย เข้าเตรียมการพร้อมรถพยาบาล หากมีการพบจิงโจ้แดงและได้รับบาดเจ็บ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ค้นหาอย่างเต็มกำลัง ยังไม่พบจิงโจ้แดงในเวลาเดียวกันนี้ สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รายงานและได้รับการสั่งการจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง . /////// นิวัตร ธาตุอินจันทร์ เชียงใหม่