เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ที่ฝายแม่ยม ตำบลบ้านกลาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 2567 พร้อมมอบนโยบาย และมอบปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยมีนายชัยสิทธิ์ ช้ยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชาชนให้การต้อนรับ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวกับประชาชนว่า ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำในพื้นที่ต้องมาก่อน และจะพยายามผลักดันให้เกิดการก่อสร้างให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งฤดูฝนทำให้น้ำหลากในส่วนของฤดูแล้ง น้ำแห้งขอดลง จึงต้องเร่งผลักดันโครงการต่างๆ ทั้งระบบของการสร้างอาคารบังคับน้ำ และความต้องการต่างๆของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมอาชีพเสริม เช่น การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การเลี้ยงสัตว์ การประมง ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เป็นการพัฒนารายได้และความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบโฉนดเพื่อการเกษตรจำนวน 150 ราย , มอบเมล็ดพันธุ์ข้าวตามโครงการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ 5 ราย , มอบต้นหม่อนให้เกษตรกรรายใหม่ 10 ราย , มอบเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สหกรณ์การเกษตรร้องกวาง 2 ราย , มอบใบรับรอง Gap ตาม MOU ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 5 ราย และพบปะประชาชนพร้อมปล่อยพันธุ์ปลาจำนวน 100,000 ตัว
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ฝายแม่ยมเดิมก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 เป็นฝายคอนกรีตเสริมเหล็กยาว 350 เมตร สูง 7 เมตร ดำเนินการก่อสร้างเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2516 และกรมชลประทานได้ดำเนินการ โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพหัวงานฝายแม่ยม ใช้งบประมาณจำนวน 738,587,400 บาท โดยสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วสามารถช่วยเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรของราษฎรอำเภอสอง อำเภอหนองม่วงไข่ อำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัยประมาณ 196,000 ไร่ โดยมีคลองส่งน้ำประกอบด้วยคลองส่งน้ำฝั่งขวาความยาว 64.43 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 76,341 ไร่ และคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย ความยาว 77.39 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 119,659 ไร่ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตครอบคลุมพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน