วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้นำลูกนาก จำนวน 2 ตัว ส่งมอบให้กับ สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาว อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เพื่ออนุบาลและเลี้ยงดู หลังจากเมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมา ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้รับการแจ้งจากนายอนุศักดิ์ เขื่อนเพชร ชาวบ้านป่ากุ๊ก ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ให้ไปรับตัวลูกบ้วน หรือตัวนาก จำนวน 2 ตัว ขณะกำลังทำการขุดลอกบ่อปลา และได้ประสานงานให้ทางเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมารับตัวลูกนากส่งต่อไปยังคลินิกสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
โดยได้พบขณะได้ทำการจ้างรถแบคโฮทำการขุดลอกหญ้าออกจากบ่อปลา พบลูกนาก 2 ตัว ลอยคออยู่ในน้ำ จึงได้ตักขึ้นมาจากบ่อ แต่ไม่พบแม่ของนาก ซึ่งนายอนุศักดิ์ กล่าวว่าที่ผ่านมาไม่เคยเห็นนากตัวเป็นๆมาก่อน แต่ที่บ่อเคยมีร่องรอยของขี้นาก และรอยเท้า เพราะมันชอบมากินปลาในบ่อ ก่อนหน้านี้เคยพาเจ้าหน้าที่ไปเก็บขี้นากไปส่งตรวจ พอรู้ว่าเป็นลูกนากจึงโทรประสานให้ทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมารับตัวลูกนากไปดูแล
ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า เราได้ทำงานด้านการรักษาคุ้นครองระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยของนาก และสัตว์น้ำ และหาแนวทางความร่วมมือในการคุ้มครองแหล่งที่อยู่ของนาก ให้นากมีชีวิติอยู่ยั่งยืนอย่างไร ตอนนี้สถานการณ์นากมีความน่าเป็นห่วง เพราะระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยน้อยลง รวมถึงปลาก็น้อยลง ในอนคตมีแนวทางร่วมกับชุมชนสร้างพื้นที่เขตอนุรักษ์บ้านนากร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่อไป
ด้านนางสาวนันทิกานต์ สมจิตต์ นักวิชาการสัตวบาล คลินิกสัตว์ป่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแม่ลาว จังหวัดเชียงราย กล่าวว่าหากพบเจอสัตว์ป่าบาดเจ็บ พลัดหลง หรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับสัตว์ป่า ให้ติดต่อเบอร์ด่วนของกรมอุทยาน 1362 หรือ สามารถนำส่งมาที่ศูนย์ฯ ของเราได้เลย การนำส่งสัตว์ป่าทางเราก็จะถามข้อมูลการพบเจอที่ไหน ตั้งแต่ได้มาได้ให้อาหารอะไรบ้าง เลี้ยงกี่วันเพื่อได้ข้อมูลตรงนี้มาประสานต่อในการอนุบาลต่อไป เรื่องอาหารก็เหมือนกันหากเขาเลี้ยงไว้นาแล้ว เป็นอาทิตย์ หนึ่งเดือน หนึ่งปีก็มีเราก็จะสอบถามเรื่องการกินของเขาเพื่อมาปรับใช้ของเรา เพื่อมาปรับโภชนาการให้เจ้ากับเขาให้ใกล้เคียงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับลูกนากทั้งสองตัว มีอายุประมาณ 45 วัน ไม่ทราบเพศ สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เป็นชนิดนากใหญ่ธรรมดา ตัวแรกมีน้ำหนัก 0.85 กิโลกรัม ลำตัวมีความยาว 26 เซนติเมตร ตัวที่สองนำหนัก 0.79 กิโลกรัม ลำตัวมีความยาว 25.5 เซนติเมตร
ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ศึกษาประชากรนากร่วมกับห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ ศูนย์วิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากการตั้งกล้องดักถ่าย camera tab และการพิสูจน์ Dna ผ่านมูลและชิ้นส่วน ตัวอย่างนาก และการศึกษาความสัมพันธ์ ของคนกับนาก ได้นำร่องทำเขตอนุรักษ์นาก กำหนดพื้นที่ปลอดภัยของนาก “บ้านนากในลุ่มน้ำอิงตอนล่าง” ในพื้นที่ 4 ชุมชน ได้แก่ บ้านป่าข่า บ้านป่าบง ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง และบ้านบุญเรืองใต้ ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประกาศเขตบ้านนาก และเตรียมประสานงานชุมชนขยายผลในระยะต่อไป บ้านนากก็คือการดูแลแหล่งที่อยู่ แหล่งอาหาร ลดภัยคุกคาม ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำและประชากรนาก กองทุนบ้านนากจะสนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูฐานทรัพยากรในชุมชน การขยายหรืออนุรักษ์พันธุ์ปลา การจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ การเพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำ เพื่อให้นากมีพื้นที่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยร่วมกันกับชุมชนได้ต่อไป
ข้อมูลนากที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิดได้แก่ นากใหญ่ธรรมดา นาคใหญ่ขนเรียบ นากจมูกขนและนากเล็กเล็บสั้น ลูกนากที่พบทั้งสองตัวดังกล่าวเป็นชนิดนากใหญ่ธรรมดาหรือนากยุโรป (Lutra lutra) เป็นนากขนาดใหญ่กว่านากชนิดอื่น เมื่อโตเต็มวัย ลำตัวมีความยาวประมาณ 50-70 เซนติเมตร หายางยาวประมาณ 35-50 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดที่ชาวบ้านเคยจับได้ประมาณ 7 กิโลกรัม
นากอาศัยอยู่ในระบบนิเวศ ที่มีแหล่งน้ำติดกับป่า กินสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงนกน้ำ สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กเป็นอาหาร ออกหากินในเวลากลางคืน นากมีขนหนาและป้องกันน้ำซึมเข้าผิวหนัง ขนมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา ว่ายน้ำคล่องแคล่ว คนในชุมชน พบเจอตัวนากได้ยากมาก คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพบเห็นตัวนากในแหล่งน้ำธรรมชาติ นากมีความฉลาดเอาตัวรอดได้ดีในธรรมชาติ พบนากอาศัยอยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำที่มีปลาชุกชุม และมีป่าริมฝั่งเพื่อเป็นที่หลบอาศัยของตัวนาก การพบเจอตัวนากในครั้งนี้ทั้งทีมนักวิจัยและชาวบ้านเป็นการพบเห็นนากตัวเป็นๆครั้งแรกในรอบ 3 ปี
นากใหญ่ธรรมดาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 สถานภาพการอนุรักษ์ตามบัญชี IUCN จัดนากใหญ่ธรรมดาอยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ระดับความเสี่ยงขี้นอันตรายต่อสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ จากการศึกษานากในเมืองเชียงราย พบว่าภัยคุกคามของนากมีอยู่ 4 สาเหตุดังนี้
1)การล่าของคน มีทั้งการล่าเพื่อบริโภคเป็นอาหารและล่าเพื่อป้องกันการหินในบ่อปลาหรือทำลายเครื่องมือหาปลา
2)การลดลงของพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินของนาก เนื่องจากเป็นชุมชนเมือง มีการขยายพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ทำให้พื้นที่รกร้างริมหนองน้ำ บ่อปลา หรือพื้นที่สาธารณะริมน้ำหายไป รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ ทั้งการขุดลอก การเปลี่ยนเส้นทางน้ำ เป็นการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของนากโดยตรง
3)สารเคมีจากการเกษตร การพ่นยาฆ่าหญ้าทำลายพื้นที่หลบภัยที่เป็นป่ารกทึบเป็นที่อาศัยหลบภัยของนากหายไป รวมถึงสารเคมีไหลลงแหล่งน้ำส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของนาก
4)สัตว์เลี้ยงรบกวนการออกหากินของนาก โดยเฉพาะสุนัขของชาวบ้าน เนื่องจากนากอาศัยอยู่ใกล้แหล่งชุมชนทำให้มีรายงานสุนัขกัดนากตาย หรือเห่าไล่รบกวนทำให้นากหนีออกจากพื้นที่