วันที่ 27 ก.พ.65 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินทางมาตรวจราชการและมอบนโยบายการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตผู้สูงอายุใน 4 มิติ ในพื้นที่จังหวัดพังงา
โดยได้ตรวจเยี่ยมที่ศูนย์บริการผู้สูงอายุ วัดมาตุคุณาราม ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง มีนายเถลิงศักดิ์ นุชประหาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายเอกสิทธิ์ สองเมือง นายอำเภอตะกั่วทุ่ง ผู้บริหาร บุคลากรของหน่วยงานด้านการศึกษา ส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ร่วมให้การต้อนรับ กศน.จังหวัดฟังงา ได้ดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงาน กศน. ในการจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงพัฒนาการทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย กศน.อำเภอทั้ง 8 แห่งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 7,226 คน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565สำนักงาน กศน.จังหวัดพังงา ได้มอบหมายให้สถานศึกษาในสังกัด ดำเนินการจัดกิจกรรมป้องกันภาวะซึมเศร้า คงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ดังนี้ 1. มิติสุขภาพ 2.มิติสังคม 3.มิติเศรษฐกิจ 4.มิติสภาพแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในทุกมิติให้ผู้สูงอายุมีโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักสูตรกิจกรรม ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อผู้สูงอายุจะได้รับการพัฒนาและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการ ด้านการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ร่วมกับกระทรวงมหาดไท ย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 และกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุด้วยหลักสูตรและรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะรูปแบบของการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ได้แก่ การออกแบบกิจกรรมที่ให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ กลุ่มติดสังคมได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งลักษณะของกิจกรรมกลุ่มนี้ ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคมมีพัฒนาการไปเป็นผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง(ติดบ้านและติดเตียง) ตราบเท่าที่ผู้สูงอายุยังสามารถคงสมรรถนะทางกาย จิตและสมองไว้ได้ยืนยาวขึ้น หรือตลอดชีวิตย่อมสร้างประโยชน์ให้แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาของภาครัฐได้จำนวนมาก ปัจจัยสำคัญของการที่จะคงภาวะติดสังคมในผู้สูงอายุไว้ให้นานที่สุด ขึ้นอยู่กับการที่ผู้สูงอายุมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่เหมาะสมและอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการจัดการศึกษาพัฒนาทักษะชีวิตใน 4 มิติ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในทุกด้านให้ผู้สูงอายุมีโอกาสในการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาและมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข