ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดพะเยา เตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ยกระดับการเฝ้าระวังควบคุมโรค รองรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด19 สายพันธุ์โอมิครอน
วันที่ 7 มกราคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่ ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา นายแพทย์ศุภชัย บุญอำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา ในฐานะ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขจังหวัดพะเยา กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมด้วยนายบุญวาทย์ สมศักดิ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยา ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดพะเยา ล่าสุด
นายแพทย์ศุภชัย บุญอำพันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า จังหวัดพะเยา มีรายงานผู้ป่วยโควิด19 สะสมตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2565 จำนวนทั้งหมด 2,906 ราย ติดเชื้อจากต่างจังหวัด 1,586 ราย ร้อยละ 54.58 และติดเชื้อในจังหวัด 1,320 ราย ร้อยละ 45.42 มีการระบาดอยู่ 3 ช่วง คือช่วงเดือนเมษายน 2564 เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 และ ตุลาคม – พฤศจิกายน 2564 และในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบมีผู้ป่วยสูงขึ้นจากการรวมกลุ่มสังสรรค์ ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ ซี่งมีคลัสเตอร์ที่มีการระบาดในช่วงนี้ 4 คลัสเตอร์ ดังนี้ คลัสเตอร์นักเรียน-ครู-ครอบครัวในโรงเรียน พื้นที่เทศบาลเมืองพะเยา ( 70 ราย ) ระบาดในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอดอกคำใต้และอำเภอภูกามยาว คลัสเตอร์ร้านอาหาร อำเภอเชียงคำ ( 13 ราย ) ระบาดในพื้นที่อำเภอเชียงคำและอำเภอ ภูซาง คลัสเตอร์ Countdown ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ร้านพระราม 8 เขตเทศบาลเมืองพะเยา ( 57 ราย ) ระบาดในพื้นที่อำเภอเมืองพะเยา อำเภอดอกคำใต้ อำเภอภูกามยาวและอำเภอเชียงคำ คลัสเตอร์ติดเชื้อในครอบครัว จากญาติที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดสมุทรปราการ ( 11 ราย )ระบาดในพื้นที่อำเภอแม่ใจ
สำหรับการส่งตัวอย่างตรวจหาสายพันธุ์ พบ 2 คลัสเตอร์ ที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน คือ คลัสเตอร์ Count down ร้านพระราม 8 เขตเทศบาลเมืองพะเยาและคลัสเตอร์ติดเชื้อในครอบครัว อำเภอแม่ใจ
โดยจังหวัดพะเยา มีความพร้อมด้านการรักษาพยาบาล ในการรองรับผู้ป่วยของโรงพยาบาล ทุกสังกัด ขณะนี้ใช้เตียงไปทั้งหมด จำนวน 148 เตียง ( ร้อยละ 46.54 ของการรองรับในระบบ 318 เตียง) สามารถรองรับผู้ป่วยได้อีก จำนวน 170 เตียง เปิดปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในรูปแบบศูนย์พักคอยและส่งต่อชุมชน (community Isolation) ระดับจังหวัด ณ สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา จำนวน 98 เตียง ใช้งานแล้ว 14 เตียง และเตรียมความพร้อมเปิด CI ระดับจังหวัด แห่งที่ 2 อาคารแขวงการทางที่ 2 อำเภอเชียงคำ 80 เตียง สำรองศูนย์พักคอยและส่งต่อชุมชน ระดับจังหวัด ณ อาคารโรงยิม มณฑลทหารบกที่ 34 อีกทั้งเตรียมพร้อมศูนย์พักคอยระดับอำเภอทุกอำเภอ รวมทั้งสิ้น 902 เตียง
สำหรับ ผู้ที่มีความเสี่ยงใน 2 เหตุการณ์ คือ ไป Countdown ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ร้านพระราม 8 อำเภอเมืองพะเยา ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2565 และพบปะสังสรรค์กับญาติที่มาจาก จังหวัดสมุทรปราการ หรือสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันโควิดใน 2 เหตุการณ์นี้ ให้ขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด19 ได้ที่ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน พร้อมทั้งแยกตัวเองสังเกตอาการป่วย 14 วัน หลังจากไปในสถานที่เสี่ยง ผู้ที่มีความเสี่ยงและตรวจหาการติดเชื้อด้วยตัวเองโดยชุดตรวจ ATK แล้วผลบวก ให้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ใกล้บ้านเพื่อประสานการตรวจยืนยันและการรักษา การสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วม โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน องค์กร ต่างๆ ดำเนินการตามมาตรการ VUCA เพื่อรองรับการเปิดประเทศ โดยคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดพะเยารวมทั้งแรงงานต่างด้าว ให้รับการฉีดวัคซีนโควิด19 ปฏิบัติตนเพื่อป้องกันตนเองตามหลัก D-M-H-T-T-A โดยสวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่างในที่สาธารณะ และล้างมือบ่อยๆ สถานบริการ สถานประกอบการ ร้านอาหาร สถานที่พัก/โรงแรม ดำเนินตามมาตรฐาน COVID FREE SETTING และตรวจคัดกรองตนเอง คัดกรองในชุมชนและสถานที่เสี่ยง โดยใช้ชุดตรวจอย่างง่าย เป็นประจำและสม่ำเสมอ
ภาพ/ข่าว พรรณณีย์ มูลเทศ