ชาวนาเชียงราย 18 อำเภอ รวมตัวศาลากลางร้องราคาข้าวตกต่ำ

1
(1)
image_print

ตัวแทนชาวนาเชียงรายรวมตัวถามความคืบหน้าหลังยื่นหนังสือผ่านจังหวัดขอให้รัฐช่วยเหลือพยุงราคาข้าว แต่ไม่ได้รับคำตอบ พร้อมเสนอให้แต่ละภูมิภาคปลูกข้าวในสายพันธ์ที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของแต่ละภูมิภาคเพื่อพัฒนาสายพันที่มีคุณภาพ

เวลา 09.00 น. วันที่ 4 พ.ย.64 ตัวแทนชาวนาผู้ปลูกข้าวใน จ.เชียงราย จาก 18 อำเภอ นำโดย นายณรงค์ เขื่อนคำแสน ได้นัดรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย เพื่อเรียกร้องความคืบหน้าจากทางรัฐบาล กรณีสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย

หลังจากได้ยื่นข้อเสนอที่รวบรวมจากชาวนาจำนวน 9 ข้อ ไปยังรัฐบาลผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ขอให้ช่วยเหลือเรื่องราคาผลผลิตข้าว โดยขอให้ พยุงราคาข้าวเหนียวสดความชื้นไม่เกิน 25% ในราคา 10 บาท ข้าวจ้าวในราคา 9 บาท ขอรับการสนับสนุนไซโลและลานตากในทุกหมู่บ้าน ขยายตลาดรับซื้อโดยนำพ่อค้าจากแหล่งอื่นเข้ามาสนับสนุน จัดพื้นที่การปลูกข้าว ปรับค่าเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ ข้าวเปลือกหอมมะลิจาก 360 กิโลกรัมต่อไร่เป็น 650 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเปลือกเจ้าจาก 445 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 700 กิโลกรัมต่อไร่

โดย นายณรงค์ เขื่อนคำแสน สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย พื้นที่ อ.แม่สาย กล่าวว่า เนื้อหาที่สภาเกษตรกรนำเสนอต่อรัฐบาลมีสำคัญโดยเฉพาะการจัดระเบียบพื้นที่หรือโซนนิ่งการปลูกข้าวเพราะประเทศไทยมีภูมิประเทศและอากาศแตกต่างกัน ซึ่งข้าวเหนียวจะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพในภาคเหนือ ข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน ข้าวจ้าวในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง หากรัฐบาลสามารถจัดหาตลาดให้รับซื้อได้ตามสายพันธุ์ และภูมิภาค จะทำให้เกษตรกรมุ่งผลิตข้าวที่มีคุณภาพในแต่ละพื้นที่ แทนการปลูกให้ได้จำนวนมากๆ แต่คุณภาพด้อยกว่าทำให้เราสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ หากการเสนอครั้งนี้ไม่เป็นตามแนวทางที่เสนอ คงมีการรวมตัวอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่กว่านี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อเสนอทั้งหมดต้องทำให้ได้ในฤดูกาลนี้ปีนี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้ทำในปีหรือฤดูกาลถัดไปเพื่อให้ชาวนาได้อยู่รอดเพราะการปลูกข้าวคงอยู่คู่กับประเทศไทยไปอีกยาวนาน

“ข้อเสนอทั้งหมดทางสภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่อทางจังหวัดจนเรื่องไปถึงทุกภาคส่วนทั้งระดับภูมิและระดับชาติไปเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เพราะราคาข้าวยังตกต่ำเหมือนเดิมในราคากิโลกรัมละ 5.70-5.80 บาท ขณะที่ต้นทุนไร่ละ 4,500-5,000 บาท หากรวมต้นทุนอื่นๆ ก็มากกว่านี้ทำให้ชาวนาไม่มีรายได้และไม่มีมีเงินไปชำระหนี้ เนื่องจากราคาที่เกษตรกรจะอยู่รอดได้คือกิโลกรัมละตั้งแต่ 7-8 บาทขึ้นไป หากรวมค่าชดเชยจากเงินประกันรายได้ข้าวของรัฐบาลแล้วก็จะได้กิโลกรัมละ 9-10 บาท” นายณรงค์ กล่าว

หลังจากที่กลุ่มเกษตรกรได้มารวมตัวกัน นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ปลัดจังหวัดเชียงราย ได้เข้ารับเรื่องจากชาวนาและให้ตัวแทนของเกษตรกรเข้าไปหารือในรายละเอียดเพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเรื่องระดับนโยบายและมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้กลุ่มชาวนาได้ส่งตัวแทนเข้าไปหารือกับทางจังหวัดเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
//////////////////////////

ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย
0882692681

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 1 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 1

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »