วันนี้ (28 ตุลาคม 2564) เวลา 10.00 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ร่วมประชุมหารือกับ พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) พร้อมคณะ ณ ห้องประชุม ชั้น 17 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงฯ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เข้าร่วมประชุม
ปกท.ทส. เผยว่า การประชุมหารือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพิจารณาประเด็นการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ภายใต้การกำกับของกระทรวงฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเจตนารมณ์ในการดำเนินการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐหนึ่งหน่วยงานดูแลรับผิดชอบที่ดินของรัฐหนึ่งแห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการที่ดินที่ทับซ้อนกัน อันจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินรัฐและต่อประชาชน เพื่อที่คณะทำงานปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ จะได้นำไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกลไกของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ รวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ปกท.ทส. เน้นย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยินดีให้ความร่วมมือและเร่งรัดดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะเร่งดำเนินการปรับปรุงแนวเขตพื้นที่ที่ดินรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลที่ทับซ้อนกันในพื้นที่จังหวัดกลุ่มที่ 2 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง ลพบุรี สระบุรี และศรีสะเกษ ให้แล้วเสร็จ ก่อนนำเข้าคณะอนุกรรมการฯ One Map ที่มี พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นี้ แน่นอน ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการให้แนวเขตที่ดินของหน่วยงานรัฐมีความถูกต้อง ตรงตามกฎหมาย ตามสภาพข้อเท็จจริงและหลักวิชาการ มีแผนที่กลางมาตราส่วนเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ลดปัญหาความซ้ำซ้อน ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน