เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบ VDO conference โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธาน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการและเลขานุการ รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) จำนวน 5 โครงการ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ตามแผน PDP 2018 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน ได้แก่ (1) โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (2) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 – 2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สายอำเภอหาดใหญ่ – ชายแดนไทย – มาเลเซีย ของกรมทางหลวง (4) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำญวน จังหวัดพะเยา ของกรมชลประทาน และ (5) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน ทั้งนี้ เจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าในการพิจารณา EIA ของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม- อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลนั้น แต่ละฝ่ายได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯมีความกังวลในเรื่องความลึกของการขุดอุโมงค์และต้องใช้พื้นที่ป่าสงวนอย่างไรก็ตามขณะนี้ได้กันพื้นที่ 800 ของอุทยานฯไว้แล้ว รวมทั้งเตรียมแผนในเรื่องการปลูกป่าทดแทน
ด้านนายเฉลิมเกียรติ์ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่าขั้นตอนต่อไปกรมชลประทานจะต้องเตรียมความพร้อมมนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเตรียมการใช้ที่ดินเพื่อทำการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งอาจจะเสนอ คณะรัฐมนตรีในปีหน้า ส่วนงบประมาณที่ใช้ในโครงการนั้น เป็นงบที่ทางรัฐบาลจะเป็นผู้จัดหามา ส่วนที่มีการอ้างว่าจะมีการใช้เงินลวทุนจากจีนนั้น เป็นแค่ข้อเสนอ ที่ผ่านมาทุกโครงการในการบริหารจัดการน้ำนั้นใช้เงินในประเทศแทบทั้งสิ้นส่วนข้อกังวลเรื่องการเก็บค่าใช้น้ำนั้น ยืนยันว่ายังไม่มี เพราะยังไม่มีกฎหมายการเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร เพราะรัฐบาลตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวของเกษตรกร ส่วนการผันน้ำจะไม่ให้มีผฃกระทบกับชุมชนที่อยู่ลุ่มน้ำยวม เนื่องจากจะมีการผันน้ำในฤดูฝนเท่านั้นที่มีปริมาณน้ำเกินความต้องการ และมีปริมาณที่กำหนดไว้แล้วว่าจะรักษาระดับน้ำอยู่ที่อยู่ในลำน้ำ โดยมีแผนจะผันน้ำ 1,795 ล้านลบ.ม ต่อปี งบในการก่อสร้าง 70, 675 ล้านบาท
ด้านการคัดค้านโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลได้ขยายวงกว้างมากขึ้นไปสู่กลุ่มนักศึกษาและเยาวชนโดยล่าสุด ในเพจของชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม TU (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ได้โพสต์ข้อความคัดค้านโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลแนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล โดยเนื้อหาบางส่วนระบุว่าสืบเนื่องจากกระแสข่าวการเร่งรัดผลักดันโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำที่มีความยาวกว่า 60 กิโลเมตร และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำยวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบโครงการดังกล่าว ต้องใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 5 แห่ง และพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง สูญเสียพื้นที่ป่าทั้งสิ้น 3,641.77 ไร่ ทางชุมนุมอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมด ยกเลิกการเร่งผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแบบเหมารวม และเลือกการจัดการแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นลำดับแรก เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียทรัพยากรป่าไม้-สัตว์ป่า รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางระบบนิเวศที่มีความสำคัญและมีคุณค่า ทางชุมนุมขอให้รัฐบาลส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการน้ำแบบไม่ทำลายพื้นที่ป่าเพื่อให้คนและสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน