นายถาพร ณ นคร ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ เขตตรวจราชการที่ 15 ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการด้านกาแฟและ โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ในพื้นที่ อำเภอดอยสะเก็ดจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นางสาวเกศินี เจริญสุวรรณ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 4 พร้อมทีมเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดร่วมลงพื้นที่ติดตามงานด้วย
ทั้งนี้นายถาพรกล่าวว่า ตามนโยบายของกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่รับผิดชอบดูแลและบริการสมาชิก ด้านการสนับสนุนปัจจัยการผลิต บริการสินเชื่อ เงินกู้ดอกเบี้ยถูก และอุปกรณ์ เครื่องมือการเกษตร ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์พืช รวมทั้งการต่อรองทางการค้า เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและหาช่องทางการตลาด ภายใต้นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งงานด้านนี้ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ นางมนัญญา ไชยเศรษฐ์ มีนโยบายขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งกรณีของสหกรณ์พัฒนาดอยสะเก็ดแห่งนี้ก็เป็นต้นแบบในการต่อยอดพัฒนาขยายผลสร้างความเข้มแข็ง สร้างโอกาสทางการตลาดจากจุดแข็งเรื่องผลิตภัณฑ์กาแฟอาราบิก้าที่มีสมาชิกผลิตกว่า 300 ราย ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนและมีคุณภาพที่ดีภายใต้การส่งเสริมของโครงการหลวงด้วย ปัจจุบันมีนายประหยัด เสนน้อง เป็นผู้จัดการ สหกรณ์สำนักงานที่มีโรงผลิต โรงคั่วและร้านกาแฟหน้าร้านอยู่ปั๊มน้ำมันบางจาก ถนนเชียงใหม่-เชียงราย เลยทางแยกเข้าตัวอำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งกำลังขยายกิจการกาแฟในรูปแบบต่างๆตามความต้องการของตลาดโดยผลผลิตกาแฟส่วนใหญ่ส่งขายโครงการหลวง
สำหรับอำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ แหล่งเพาะปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ที่เริ่มปลูกตั้งแต่ พ.ศ.2542 อยู่ในพื้นที่ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด สูงกว่าระดับน้ำทะเล 900 – 1,500 เมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แม่ตะไคร้ – แจ้ซ้อน พื้นที่โครงการหลวง ซึ่งมีสภาพเป็นภูเขา เป็นป่าไม้ดิบชื้นมีฝนตกชุกตลอดปี อากาศหนาว อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 5 – 25 องศาเซลเซียส โดยเขตพื้นที่ของตำบลเทพเสด็จ มีผลผลิตกาแฟกะลา ประมาณ 3,000 ตันต่อปี ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 2,995 คน จานวน 61 กลุ่ม รวม 14 ตำบล ในอำเภอดอยสะเก็ด – มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 215,122,176.12 บาท
ในส่วนของโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบัน มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ 179 คน จาก 25 อำเภอ โดยมีสหกรณ์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 5 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ โอกาสนี้ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์เขตตรวจราชการที่ 15 ยังได้นำคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของทายาทเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดได้กลับบ้านอยู่กับครอบครัว และสานต่ออาชีพการเกษตรของพ่อแม่ปู่ย่าตายายโดยจะเน้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและการตลาด มีการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นทำน้อยแต่ได้มาก ต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ได้ผลกำไรที่คุ้มค่า โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนให้สหกรณ์ในพื้นที่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำอาชีพให้คนเหล่านี้ ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่าคนรุ่นใหม่จะได้เข้ามาสานต่องานสหกรณ์ และช่วยพัฒนาสหกรณ์ในจังหวัดในหมู่บ้านของตนเองให้เจริญก้าวหน้าและนำพาเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น สำหรับพื้นที่สวนเกษตรผสมผสานเชิงวนเกษตรของนายวรชัย ทองคำฟู ทายาทนายนิเวทย์ ทองคำฟู ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในตำบลแม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด ซึ่งเจ้าตัวใช้องค์ความรู้และประสบการณ์จากที่เคยทำงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาของบิดา ปรับพื้นที่เป็นสัดส่วนคล้ายป่าชุมชนมีพืชท้องถิ่นทั้งไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ พืชผักพื้นถิ่นที่มีผลผลิตตลอดปี พร้อมกับการแปรรูปผลผลิตเช่น กระเทียมโทนดอง ผลไม้แช่อิ่ม อบแห้ง กาแฟ โดยเจ้าตัวบอกว่านับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้ต้องมาอยู่บ้านกระทั่งมายุคโควิด-19 ก็ได้เรียนรู้และกลายเป็นโอกาสได้ขยายผลสู่ตลาดออนไลน์มีเครื่อข่ายได้องค์ความรู้รอบตัวเพิ่มอีก พลิกชีวิตให้มีอยู่มีกินปลอดหนี้สินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและพื้นที่เกษตรก็ปลอดสารเคมีทั้งหมดด้วย ถือเป็นต้นแบบอีกรายหนึ่ง
ทั้งนี้ทางผู้ตรวจฯถาพร กล่าวชื่นชมพร้อมให้ทางสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ได้ติดตามเพื่อสรุปปัญหาอุปสรรครวมทั้งแนวทางช่วยเหลือส่งเสริมให้ต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรดำรงชีวิตได้อย่างเข้มแข็งเกิดความยั่งยืนจริง และขยายผลต่อไปซึ่งกรมฯพร้อมผลักดันให้เกิดทั้งคุณภาพและมูลค่าให้ เช่นล่าสุดก็นำผลผลิตของเกษตรในโครงการจัดทำเป็นกระเช้าหรือเซ็ตของฝากในเทศกาลต่างๆเช่นปีใหม่นี้ด้วย.