เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 นายธันวา เหลี่ยมพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า หลังจาก ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้คนหนุ่มสาวในพื้นที่บ้านหัวเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ได้ไปทำงานต่างถิ่น ได้ทยอยเดินทางกลับมาอยู่ในภูมิลำเนา และเริ่มหารายได้จากการทำอาหาร แต่เนื่องจากบ้านอยู่ในตรอกซอกซอยไม่มีทำเลที่ผู้คนที่สัญจรไปมาจะเห็นว่าค้าขายอะไรบ้าง จึงต้องประกาศขายออนไลน์และดิลิเวอร์รี่ ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง โดยพบว่ามีการลองผิดลองถูก หลายอย่าง เพราะต้องการให้มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว
ทั้งนี้ พบว่าคนไทยรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการเป็นภาระของสังคมและประเทศชาติ จึงมีการหารือในที่ประชุมหมู่บ้านเมื่อเดือนนาคม 2564 นายอนันต์ ปินตา ผู้ใหญ่บ้านหัวเวียง ได้เสนอให้จัดพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ คน ที่ต้องการสร้างรายได้จากการขายอาหารหรือสินค้าอื่นๆ จึงได้ร่วมมือกับเทศบาลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เปิดกาดหัวเวียง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 และกำหนดจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์
นายธันวา กล่าวอีกว่า ในระหว่างนั้น การซื้อขายสินค้าในกาดหัวเวียงที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนนั้น บางช่วงชาวบ้านต้องหยุดการขาย เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ทำให้ชาวบ้านหลายรายต้องถอดใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ได้กลับมาค้าขายกันเหมือนเดิม
ล่าสุด นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความพยายามและความตั้งใจของชุมชน จึงได้ร่วมมือส่งเสริมให้มีการกระตุ้นตลาดได้เกิดการหมุนเวียนรายได้ของคนในชุมชน ชื่อโครงการว่า “กิจกรรมจำหน่ายสินค้าชุมชน ภายใต้โครงการร่วมค้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน” ปีงบประมาณ 2564 โดยจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย นาทีทอง การตกแต่งสถานที่ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น ให้มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างสมำ่เสมอ ไม่ให้ขาดตอน ภายใต้การมาตราการควบคุมของสาธารณสุข และอสม.ในพื้นที่ โดยขอให้ชาวบ้านสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด
สำหรับโครงการนี้ จะจัดในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00-21.00น. ที่กาดหัวเวียง ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และจะมีชาวบ้านในพื้นที่นำอาหารพื้นถิ่น, ผักผลไม้ปลอดสารพิษ , ผ้าทอไทลื้อ, สินค้าของที่ระลึก มาจำหน่ายให้กับคนใน ชุมชน รวมถึงจะมีการแสดงวัฒนธรรมพื้นถิ่นให้ชมอีกด้วย