ทส. เสริมเครื่องสูบน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝน

0
(0)
image_print

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ ขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนปี 64 โดยเสริมเครื่องสูบน้ำ ไปประจำการยังสำนักงานทรัพยากรน้ำภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จากการคาดการณ์พบว่าฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้ว 5-10% พายุหมุนเขตร้อน จำนวน 2-3 ลูก จะเคลื่อนเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ประกอบกับการมีกระแสลมพัดแปรปรวนเกิดเป็นลมกรรโชกแรงและฝนฟ้าคะนอง ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยมีฝนตกหนักและอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ในบางพื้นที่

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายสมฤทธิ์ วิไลพรรัตนา รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการปล่อยขบวนรถเครื่องสูบน้ำ โดยมีนายธีระชุณ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ และฟื้นฟูแหล่งน้ำ เป็นผู้กล่าวรายงาน การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการตรวจรับเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง ที่สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำทำการจัดซื้อเพื่อเตรียมส่งต่อให้สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 ภาค 4 ภาค 5 ภาค 10 และภาค 11 นำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ในงบประมาณปี พ.ศ. 2564 สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำได้จัดซื้อเครื่องจักรกลอีกหลายรายการเพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ อาทิ รถบรรทุกพร้อมกระบอกสูบ สายยางสำหรับส่งน้ำ รถขุดตักไฮโดรลิก รถบรรทุกเครื่องลากจูงพร้อมหางลากพ่วง รถบรรทุกเทท้าย และเรือดูดโคลนสะเทินน้ำสะเทินบก เป็นต้น

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง น้ำท่วม ได้กำชับให้หน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำทุกส่วนดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ผลการดำเนินงานการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำได้ส่งเครื่องสูบกระจายไปในพื้นที่เสี่ยง และได้ดำเนินการตามมารตรการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการช่วยเหลือเกษตรไม้ผลในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และจากมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ 10 มาตรการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติให้ดำเนินการตามมาตรการที่ 7 และ 8 กล่าวคือ

มาตรการที่ 7 การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและบรรเทาวิกฤตน้ำในช่วงฤดูฝน ประจำปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ผลิตน้ำสะอาด จุดแจกจ่ายน้ำช่วยเหลือ จุดสูบน้ำช่วยเหลือ และจุดจ่ายน้ำสะอาด รวมทั้งหมด 537 จุด โดยคาดว่าในช่วงฤดูฝน ปี 2564 นี้ กระทรวงฯ จะมีศักยภาพสูบน้ำช่วยเหลือประชาชนได้ 30 ล้าน ลบ.ม. และสนับสนุนน้ำสะอาดได้ประมาณ 76 ล้านลิตร นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำ ได้เสริมเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้วเพิ่มเติมอีก 5 เครื่อง จากที่มีอยู่เดิม 315 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสูบน้ำป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน นอกเหนือจากนั้น กระทรวงฯ ได้จัดเตรียมรถบรรทุก รถบรรทุกน้ำ เครื่องจักรหนัก และเรือดูดโคลน และจัดเตรียมชุด จุดเจาะน้ำบาดาลและรถผลิตน้ำดื่มสะอาดเคลื่อนที่ จำนวน 96 ชุด ปรับปรุงซ่อมแซมสถานีโทรมาตรและสถานี Early Warning System เพื่อให้มีความพร้อมในการเตือนภัย ป้องกันการเสียชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจากเหตุน้ำท่วมและน้ำหลาก-ดินถล่ม จำนวน 2,097 สถานี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของสถานีเตือนภัยทั้งประเทศ โดยสถานีดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 4,911 หมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงภัย

นอกจากนี้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชน โดยแบ่งเป็นศูนย์ส่วนกลาง จำนวน 3 ศูนย์ (ศูนย์ปฏิบัติการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้านทรัพยากรน้ำ ศูนย์เมขลา กรมทรัพยากรน้ำ และศูนย์นาคราช กรมทรัพยากรน้ำบาดาล) และศูนย์ส่วนภูมิภาคหรือศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาส่วนหน้า จำนวน 99 ศูนย์ (สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-11 สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 1-12 และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด)

ในส่วนของมาตรการที่ 8 นั้นคือ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงการส่งน้ำด้านน้ำผิวดิน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการพัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำและพัฒนาระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 564 โครงการ ซี่งสามารถเก็บกักน้ำเพื่อสนับสนุนประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานในช่วงที่มีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ และภาวะฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนปี 2564 ได้ 324 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์กว่า 149,061 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 487,058 ไร่ ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่อยู่ในการดูแลจำนวน 65 อ่าง ซึ่งมีน้ำเก็บกักอยู่ 51% หรือ 120 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ปี 2564 ปริมาณน้ำในอ่างทั้ง 65 แห่งจะมีปริมาณเก็บกักเต็มความจุ

ทั้งนี้จากนโยบายการสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำและเพิ่มน้ำต้นทุนของรัฐบาลนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้มีแผนการดำเนินงานโดยเน้นเป้าหมายการฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ พร้อมทั้งการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ผ่านโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ นอกเขตพื้นที่ชลประทาน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในปีงบประมาณ 2564 เพิ่มขึ้นประมาณ 163.05 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ 51,999 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 209,788 ไร่ พร้อมทั้งการพัฒนาระบบกระจายน้ำ ในแต่ละพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในทุกๆ แหล่งน้ำที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดความสมดุลกับความต้องการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชน และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชน ผ่านสื่อหลัก และสื่อ Social Media

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »