เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 9 มิ.ย.2564 นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า กรณีการเลือกตั้งนายกฯและสมาชิกสภาเทศบาล มีผู้ร้องเรียน จำนวน 100 กว่าเรื่อง จากเทศบาล 121 แห่ง ที่ดำเนินการไปแล้ว 54 เรื่อง เหลือ 45 เรื่องที่ยังสืบสวนสอบสวนอยู่ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร ซึ่งติดปัญหาพยานบุคคลไม่สามารถเรียกมาสอบได้รวดเร็ว เพราะติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แต่อยู่ในห้วงเวลา 50 วัน และอาจจะขยายเวลาออกไปหากมีการร้องเรียนเรื่องใหม่มาเพิ่มอีก
“แต่หากพบว่า หลังการประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว ผลสรุปการสืบสวนสอบสวนแล้วพบการกระทำผิดในห่วงเวลาดังกล่าว กตต.เชียงใหม่ จะสรุปสำนวนยื่นคำร้องถึงศาลอุทธรณ์ จากนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลอุทธรณ์ดำเนินการเพื่อประกาศระงับสิทธิ์ที่ได้รับรองการเลือกตั้งไปแล้ว รวมทั้งการเพิกถอนตำแหน่งหน้าที่ของนายกฯและสมาชิกสภาฯต่อไปได้”
“ในส่วนกรณีที่มีกลุ่มบุคคลมิจฉาชีพที่อ้างจะวิ่งเต้นให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆให้หลุดพ้นคดี และอ้างจะช่วยให้มีการประกาศรับรองการเลือกตั้งก่อนหน้านี้นั้น การที่มีข่าวเช่นนี้นั้น ตนเองรับประกัน 100% ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่นกรณีที่มีข่าว กกต.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมกลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มหนึ่ง ที่อ้างว่า จะสามารถล้มใบแดงคดีเลือกตั้งได้นั้น ทาง กกต.ได้ซ้อนแผนร่วมกับตำรวจเข้าจับกุมไปแล้ว และยังมีคดีลักษณะดังกล่าวอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง กกต.ได้ดำเนินการวางแผนการจับกุมอยู่”
นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า “ขอฝากเรื่องการยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายหลังการเลือกตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว และผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งให้รีบยื่น ซึ่งวันสุดท้ายจะสิ้นสุดในวันที่ 28 มิ.ย.2564 ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด จำนวน 4,022 คน ได้มายื่นบัญชีเสร็จสิ้นไปแล้ว 45% สนง.กกต.ได้จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ลงในทุกอำเภอ 3 ชุด และขอให้ผู้ที่จะแจ้งบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าวสามารถโทรศัพท์มานัดหมายกับทาง จนท.กกต.ก่อนเดินทางมาเป็นหมู่คณะได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือติดต่อโทรศัพท์มาสอบถามได้ที่เบอร์ 053-112347-8 ได้ แต่ขอเตือนให้รีบมาก่อนวันหมดเขต เพราะอาจจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ทัน หากผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มายื่นบัญชีรายรับรายจ่ายดังกล่าว ถือว่ามีความผิด มีโทษสูงสุดจำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท รวมทั้งศาลเผิกถอนสิทธิ์รับเลือกตั้ง 5 ปี” ผอ.กกต.เชียงใหม่ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ กกต.เชียงใหม่ ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปแล้ว ภายใน 30 วัน หลังจากประกาศฯดังกล่าว สามารถร้องเรียนการทุกจริตเลือกตั้งได้อีก ต้องมีพยานหลักฐานจริง หากผู้ร้องคนเดิมมีหลักฐานใหม่ก็เสนอต่อ กกต.ได้ จะรวมในสำนวนเดิม หากมีร้องเรียนเรื่องใหม่ กกต.เชียงใหม่ พิจารณารับเรื่องก็จะเริ่มสืบสวนสอบสวนในคดีใหม่ต่อไป จากนั้นจะสรุปสำนวนนำเสนอไปยัง กกต.กลาง หากมีมูลความผิดจริง ทาง กกต.กลาง จะได้วินิจฉัยสรุปสำนวนยื่นต่อศาลอุทธรณ์เพื่อตัดสินในคดีต่างๆที่ร้องเรียนต่อไป
ผู้สื่อข่าวได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ แจ้งว่า ในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนผู้สมัครนายกฯเทศบาลในพื้นที่ต่างๆ เช่น ปัญหาในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองแม่เหียะ พบว่ามีผู้ร้องเรียนข้าราชการวางตัวไม่เป็นกลาง ทาง กกต.เชียงใหม่ ได้สรุปเรื่องดังกล่าวไปแล้วว่า ไม่พบข้าราชการที่ถูกร้องเรียนกระทำผิดจริง แต่หากผู้ที่ถูกกล่าวหาจะฟ้องร้องกันเองก็สามารถทำได้ตามสิทธิที่เสียหายจากการร้องเรียนนั้นเป็นต้น และในส่วนพื้นที่เทศบาลตำบลสุเทพ ซึ่งถือว่ามีปัญหามากที่สุดในพื้นที่ของอำเภอรอบนอกเมืองเชียงใหม่ ก็มีการร้องเรียนกันจำนวนหลายเรื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิด และนักการเมืองกระทำผิดในเรื่องการหาเสียงเลือกตั้งเกินจริงเป็นต้น
อีกกรณีหนึ่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลสำราญราษฏร์ ก็ได้มีผู้ร้องเรียน กกต.เชียงใหม่ไปแล้ว ของผู้สมัครรายหนึ่ง ก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง ถูกกล่าวหาว่า อาจจะเข้าข่ายความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 41 (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 100,000 บาท หากพบว่า โฆษณาเกินจริงด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนของ กกต.เชียงใหม่ด้วยเช่นกัน และยังมีเรื่องร้องเรียนอื่นๆที่ชาวบ้านร้องเรียนเข้าไปที่ กกต.เช่นเรื่องการซื้อเสียง ก็ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของ กกต.เชียงใหม่เช่นกัน.