อุทัยธานี# สบอ. 12(นครสวรรค์) ระดมนายสัตวแพทย์ ร่วมกันออกทำหมันลิง ตั้งเป้า 100 ตัว ช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาลิงออกมารบกวนประชาชนรอบๆ หุบป่าตาด
วันที่ 30 มีนาคม 2564 ถึง วันที่ 1 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วในการแก้ไขปัญหาลิงที่ 7 ภาคเหนือ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์)
ลงพื้นที่ปฏิบัติงานควบคุมประชากรลิง ด้วยการทำหมัน ณ หุบป่าตาด ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี
โดยในแต่ละวันเริ่มปฏิบัติงานดักจับลิงตั้งแต่เวลา 06.00 น. จนสามาถทำหมันลิงได้สำเร็จเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนงาน กล่าวคือ ตามแผนงานกำหนดไว้ จำนวน 100 ตัว แต่สามารถทำหมันได้ทั้งสิ้น 118 ตัว เป็นลิงเพศผู้ 94 ตัว เพศเมีย 24 ตัว และได้เก็บตัวอย่างเลือดลิงเพื่อตรวจหาโรค จำนวน 10 ตัว
โดยลิงทุกตัวปลอดภัย
ในการดำเนินการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้ระดมทีมงานนายสัตวแพทย์
จาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13(แพร่) 1 คน จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14(ตาก) 1 คน รวมจาก สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) อีก 1 คน รวมเป็น 3 คน และได้ใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จากเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จำนวน 5 นาย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน จำนวน 5 และเจ้าหน้าที่จากส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า 4 นาย รวมเป็น 14 นาย ร่วมกันปฎิบัติการ
ปัญหาที่พบ คือ การดักจับลิงค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้าง และลิงมีความหวาดระแวงสูง
รวมทั้งลิงเพศเมียส่วนใหญ่ที่จับได้ พบว่าตั้งท้อง ซึ่งตามหลักวิชาการแล้วไม่สามารถทำหมันได้ ต้องปล่อยตัวไป
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริเวณหุบป่าตาด อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี นี้ มีลิงแสมอาศัยอยู่ประมาณ 1,000 ตัว ที่ผ่านมาออกจากป่ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎร ด้วยการออกมาถอน ทำลาย กิน พืชอาสิน และผลผลิต มาอย่างต่อเนื่อง การที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำหมันลิงในครั้งนี้ เป็นการช่วยลดจำนวนประชากรลิงได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะตามหลักวิชาการแล้ว การทำหมันลิง ที่จะให้สามารถลดประชากรได้อย่างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องทำหมันให้ได้อย่างน้อย 70% ของประชากร ดังนั้นในโอกาสต่อไป จะได้ประสานงานกับหน่วยงานท้องที่ เช่น อบจ. อบต. องค์กรเอกชน มาร่วมกันทำหมันลิงเพิ่ม และรวมทั้งจะต้องทำกิจกรรมอื่น เช่น ป้ายแจ้งไม่ให้อาหารลิง การปลูกพืชที่ลิงไม่ทำลาย สร้างแหล่งอาหาร แหล่งในป่าให้ลิง เป็นต้น
นางสาววีรยา โอชะกุล
ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ. 12(นครสวรรค์) ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ในการแก้ปัญหาลิงที่ 7 ภาคเหนือ อีกหน้าที่หนึ่ง รายงาน