

วันที่ 25 กพ.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่จังหวัดพะเยามีสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ อัตราป่วยอันดับ 1 ของประเทศ นางฉัตรศิริ พิสิษฐ์กุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา จึงสังการใช้มาตรการเข้ม ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมายอดผู้ป่วยลดลง จากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ จังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2568 มีรายงานผู้ป่วย 2,595 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 572.11 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยสูงกว่าปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน อัตราป่วยเป็นอันดับที่ 1 ของเขตและของประเทศ และไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 93 เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มเด็กเล็ก นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาตอนต้น โดยกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี อัตราป่วย 4,021.24 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0 – 4 ปี และ 10 – 14 ปี อัตราป่วยเท่ากับ 2,787.48 และ 2,240.39 ตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยสูง 3 ลำดับแรก คืออำเภอเชียงคำ จุน และ ภูซาง อัตราป่วยเท่ากับ 1048.61, 904.29 และ 753.60 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
จากสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ของจังหวัดพะเยาในสัปดาห์ที่ 1-7 ปี 2568 พบว่า มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในสถานศึกษา เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่ ขอให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ประสานกับผู้ดูแลเด็ก และครู ในโรงเรียน ดำเนินมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่โดยให้มีการเฝ้าระวัง และคัดกรองอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจในนักเรียนทุกคนทุกเช้า ก่อนเข้าเรียน หากพบนักเรียนที่มีอาการป่วยให้หยุดเรียนทันที และแนะนำให้พบแพทย์ ให้โรงเรียนสื่อสารความเสี่ยงออกจดหมายแจ้งเตือนผู้ปกครองถึงสถานการณ์การระบาด และแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่บ้าน โดยให้สังเกตอาการของบุตรหลานทุกเช้าและหลังกลับจากโรงเรียน โดยอาการที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ไข้สูง ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หากพบบุตรหลานเริ่มมีอาการป่วยให้หยุดเรียนทันทีพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา และแจ้งทางโรงเรียนเพื่อการเฝ้าระวังในชั้นเรียนต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดพะเยามีจำนวนยอดผู้ป่วยลดลง จากรายงานผู้ป่วยที่เข้ารักษาในระบบปัจจุบัน 152 ราย โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา เน้นย้ำ ให้ผู้ปกครองและสถานศึกษา คัดกรองเด็กเบื้องต้นและดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดซึ่งจะทำให้การแพร่กระจายลดลง เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่เด็กมาจากหลายพื้นที่ หากมาตรการในโรงเรียนไม่เข้มข้นจะทำให้เกิดการกระจายของโรคอย่างรวดเร็ว และฝากไปยังประชาชนให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และให้ความร่วมมือกับมาตรการคัดกรอง โดยคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และจำนวนผู้ป่วยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากกรณีที่จังหวัดพะเยามีอัตราป่วยเป็นอันดับที่ 1 ของเขตและของประเทศ ในช่วงที่ผ่านมานั้น เนื่องจากเป็นการคิดอัตราป่วยจากตัวเลขต่อประชากรแสนคน จึงทำให้จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่าหลายจังหวัดมียอดผู้ป่วยเป็นอันดับ 1 ของประเทศในขณะนี้