เมื่อวันที่ 25 ก.พ.64 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ เยี่ยมชมเมืองเก่าตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งมีนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ว่าที่ร้อยเอกพงศ์ศักดิ์ เวทยาวงศ์ นายอำเภอตะกั่วป่า ส่วนราชการ ส่วนท้องถิ่น ประชาชน ให้การต้อนรับ พร้อมเดินเยี่ยมชมตึกและอาคารย่านเมืองเก่าตะกั่วป่าและกำแพงค่ายจวนเจ้าเมืองเก่า ซึ่งครั้งก่อนในอดีต สถานที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองค้าขายแร่ที่เฟื่องฟูและมีความคึกคักเป็นอย่างมาก และเมื่อเวลาผ่านไปกิจการเหมืองแร่ทยอยปิดตัวลง ความคึกคักของเมืองจึงเริ่มลดลง คงเหลือไว้เพียงมนต์เสน่ห์ที่น่าสนใจ ผ่าน ตึก อาคาร บ้านเรือน ที่ก่อสร้างตามสไตล์ชิโน-โปรตุกีส เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน
โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อตรวจเยี่ยมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าตะกั่วป่า ซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดความเจริญรุ่งเรืองด้านวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น มีคุณค่าด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒธรรมประเพณี แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายการดำเนินงานเป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่ ออกมาเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า พ.ศ.2546 ทำหน้าที่วางนโยบาย กำหนดพื้นที่ จัดทำแผนแม่บท ตามระเบียบปฏิบัติโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ของคณะกรรมการฯ
ในปี 2556 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการศึกษากำหนดขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตะกั่วป่า ประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าตะกั่วป่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 มีเนื้อที่ครอบคลุมสถานที่สำคัญรวม 0.33 ตารางกิโลเมตร เช่น อาคารโบราณทางศาสนา อาคารพาณิชยกรรม และอาคารที่พักอาศัยที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างตะวันตกและจีน ที่โดดเด่น
ต่อมาคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าตะกั่วป่า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาเป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพังงาเป็นเลขานุการ โดยมีผลการดำเนินงาน คือ 1.มีการออกประกาศมาตรการการควบคุมการก่อสร้างอาคารของภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐอย่างอื่น 2.มีการแต่งตั่งคณะทำงานเพื่อช่วยขับเคลื่อนงานในด้านต่างๆ 3.มีการให้คำปรึกษาและความเห็นถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อโครงการของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการของเอกชนที่ขออนุญาตก่อสร้างในที่ดินของรัฐ และ 4.มีการให้คำปรึกษาและความเห็นต่อโครงการที่อยู่อาศัยของประชาชน ที่จะก่อสร้างในบริเวณเมืองเก่าตะกั่วป่า