วันที่ 29 มิถุนายน 2567 ทางชุมชนบ้านห้วยสัก หมู่ 9 หมู่ 15 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้จัดพิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วย และเลี้ยงผีขุนห้วย โดยมี พระครูกิตติ วรพินิจ เจ้าอาวาสวัดห้วยสัก นายสรศักดิ์ ถาริยะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก พร้อมชาวบ้านร่วมกิจกรรม ในกิจกรรมมีการแห่ช้างเผือกจำลองจากวัดไปยังป่าต้นน้ำเพื่อทำการถวายทาน การเลี้ยงผีขุนห้วย และพิธีกรรมสำคัญการฟังธรรมขุนห้วยหรือฟังธรรมพญาปลาช่อน โดยชุมชนได้จัดพิธีกรรม ที่ ป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน พิธีกรรมฟังธรรมขุนห้วยเป็นการนำกุศโลบายความเชื่อล้านนาทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการทำพิธีกรรม และได้มีการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลู ในพื้นที่ป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน โดยมีนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เข้าร่วมในกิจกรรม
นายสรศักดิ์ ถาริยะ ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก ได้กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เราได้มาทำกิจกรรมเลี้ยงผีขุนน้ำที่เราทำสืบต่อกันมาหลายร้อยปี เป็นพิธีกรรมที่ใช้สำหรับการขอฝนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ขอให้เทวดาปกปักรักษาพ่อแม่พี่น้องที่บ้านห้วยสักซึ่งกิจกรรมวันนี้มีพิธีกรรม 3 อย่างคือการฟังธรรมปลาช่อน การเลี้ยงผีขุนห้วยและก็การถวานทานช้างเผือก กิจกรรมที่เราทำกันทุกปี ที่บ้านห้วยสักมี 2 หมู่บ้าน คือบ้านห้วยสัก หมู่ที่ 9 และหมู่ที่ 15 ร่วมกันจัดพิธีกรรมที่เราควรสืบทอดที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในงานมีพีกรรมสำคัญ 2 พิธีกรรม คือการฟังธรรมขอฝนเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และการเลี้ยงผีขุนห้วยเป็นการนำความเชื่อเรื่องผีของชุมชนที่ทำมาตั้งแต่มีการก่อตั้งหมู่บ้าน เป็นภูมิปัญญาล้านนาด้านการจัดการน้ำ ระบบเหมืองฝาย ที่มีความเชื่อผีขุนห้วยเป็นผีที่ใหญ่สุดเกี่ยวกับเรื่องน้ำ ทำพิธีในป่าที่ลึกต้นน้ำห่างจากหมู่บ้านซึ่งถือเป็นจุดที่เป็นป่าต้นน้ำ เพื่อได้ทำการฟังธรรมขอฝนและการบอกกล่าวไหว้วอนเลี้ยงผีขุนห้วยเพื่อขอฝนให้เพียงพอในการทำการเกษตร ให้ฝนฟ้า เป็นปกติ พืชไร่ นาข้าวอุดมสมบูรณ์ เป็นประเพณีที่ชุมชนสืบทอดกันมาทุกปี ส่วนในประเทศไทยพิธีการฟังธรรมขอถือว่าเป็นประเพณีที่ขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ในปี 2557 ที่ผ่าน
ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก ได้กล่าวถึงการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูในครั้งนี้ว่า ป่าต้นน้ำที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ เป็นป่าต้นน้ำห้วยสัก ที่ชุมชนบ้านห้วยสักของเราได้มีการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจดทะเบียนป่าชุมชน พื้นที่ประมาณ 1,200 กว่าไร่ และในลำห้วยสักได้มีการพบเต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าหายาก แต่มีการพบที่นี่ วันนี้เราเลยประกาศเป็นเขตห้ามล่าเต่าปูลู
“การประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูของชุมชนห้วยสัก เป็นแห่งที่ 4 ในลุ่มน้ำอิงตอนปลายที่มีการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูโดยชุมชน โดยทางชุมชนได้ตั้งกฎระเบียบโดยให้การประชาคมหมู่บ้านร่วมกับกฎระเบียบป่าชุมชนที่ได้รับการรับรองจากกรมป่าไม้ โดยมีคณะทำงานในการดูแลสอดส่องปูลูโดยชุมชนจากชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และมีกิจกรรมการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู เช่นการทำฝายชะลอน้ำ การป้องกันไฟป่า การเลี้ยงผีขุนห้วย การลาดตระเวน สำรวจแนวเขตป่า เพื่อป้องกันการล่าเต่าจากคนนอกพื้นที่ต่อไป” ผู้ใหญ่บ้านห้วยสัก กล่าว
พระครูกิตติ วรพินิจ เจ้าอาวาสวัดห้วยสัก กล่าวว่า บ้านห้วยสักเป็นชุมชนเกษตรที่มีการพึ่งพาทรัพยากรแหล่งน้ำในการทำการเกษตรให้สำเร็จ ทุกปีก็จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อระลึกนึกถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ได้พึ่งพา ตั้งแต่ปู่ย่าตายายได้ทำมา สืบทอดต่อลูกหลาน การเทศน์ธรรมพระยาปลาช่อน เป็นธรรมบทเมื่อครั้งพุทธกาล มีการถวายทานพญาช้างเผือกช้างแก้ว เป็นสัตว์ในพระพุทธกาล ซึ่งพระเวสสันดรได้มีช้างคู่เมืองทำให้บ้านเมืองมีฝนตกต้องตามฤดูกาล ธรรมชาติข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์จึงการพิธีกรรมการถวายทานช้างเผือก และธรรมพญาปลาช่อนที่จะได้มาฟังธรรมในวันนี้ เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะให้คนในชุมชนสมัครสมานสามัคคี ตระหนักในเรื่องของธรรมชาติที่ได้ดำรงชีวิตความเป็นอยู่ คร่าวของธรรมพญาปลาช่อน ได้พูดถึงเมื่อครั้งพระพุทธองค์ ได้กำเนิดพระชาติหนึ่งเป็นพญาปลาช่อนอยู่ในหนองน้ำ เป็นหนองน้ำที่แห้งแล้ง พญาปลาช่อนจึงช่วยให้สัตว์ทั้งหลายให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และวันนี้ทางชุมชนได้ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงได้จัดพิธีกรรมขึ้น ตระหนักถึงธรรมชาติจึงได้จัดพิธีกรรมนี้ขี้น
ในส่วนของการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลู ทางชุมชนบ้านห้วยสัก มีป่าต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันออกเขตเทือกเขาดอยยาว ป่าต้นน้ำห้วยสักอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยป่าแดง ป่าห้วยป่าตาลและป่าห้วยไคร้ ทางชุมชนได้ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ พื้นที่ 1,289 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา และในปีพ.ศ. 2565-2567 ได้ร่วมกับทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้ทำการศึกษาเต่าปูลู หรือเต่าปากนกแก้ว (Big-headed Turtle) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ อาศัยอยู่ลำห้วยสาขาของป่าต้นน้ำ ในลักษณะระบบนิเวศแบบลำธาร มีโขดหิน น้ำตก แอ่งน้ำ เป็นสัตว์ประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปในแหล่งป่าต้นน้ำในภาคเหนือของประเทศไทย และที่ลำห้วยสักยังมีการพบเต่าปูลูจากคนในชุมชนและการตรวจหาสารพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อม (eDNA) จากทีมนักวิชาการคณะะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การพบเจอเต่าปูลูที่ลำห้วยสักนั้นเป็นตัวชี้วัดว่าระบบนิเวศของป่ายังมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเต่าปูลูจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำสะอาด และมีสัตว์น้ำที่เป็นอาหารจำนวนมากเพียงพอ
จากการเก็บข้อมูลงานวิจัยพบว่าปัญหาหลักของภัยคุกคามของเต่าปูลูคือ เรื่องของการล่าเพื่อส่งออกไปต่างประเทศของคนภายนอกชุมชนที่แอบลักลอบเข้ามาล่าเต่าปูลู ที่มีราคาสูงถึงกิโลละ 3,000 – 5,000 บาท ถึงแม้จะมีกฎหมายคุ้มครองและบทลงโทษที่ชัดเจน แต่การล่าเต่าปูลูยังมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปริมาณเต่าปูลูลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทางชุมชนบ้านห้วยสักจึงได้ร่วมกับทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตจึงได้ทำการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย วิเคราะห์หาภัยคุกคาม แนวทางการแก้ไขร่วมกับคนในชุมชน ทำมติชุมชน ตั้งคณะทำงานในการดูแลสอดส่อง จึงได้ทำการประกาศเขตห้ามล่าเต่าปูลูในลำห้วยสักในพิธีกรรมเลี้ยงผีขุนห้วยของชุมชน