วันที่ 7 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพบตัวเต่าปูลูในแม่น้ำลาว บ้านคะแนง ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทางทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะของเต่าปูลู และทำการบันทึกข้อมูลสัญฐานเต่า ก่อนให้ชุมชนนำไปปล่อยไว้ตามที่อยู่เดิมในชุมชน
จากการสำรวจ เป็นเต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว เพศเมีย น้ำหนัก 0.290 กิโลกรัม กระดองมีความยาว 120.4 มิลลิเมตร กระดองส่วนกลางกว้าง 95.5 มิลลิเมตร มีชาวบ้านได้ไปหาปลาตอนหัวค่ำเจอตัวเต่าปูลูกำลังว่ายเข้าหลบในซอกหิน
บริเวณต้นน้ำแม่ลาว ห่างจากชุมชนประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลาว เป็นระบบนิเวศน์ลำธาร ที่ตั้งชุมชนบ้านคะแนงตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสาขาล้อมรอบ มีแม่น้ำลาวเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญในชุมชนจำนวน 10 ลำห้วย ได้แก่ ห้วยคะแนง ห้วยผาลาด ห้วยตาดเก๊าซาง ห้วยปูลู ห้วยผีหลอก ห้วยสวนหมาน ห้วยหินแดง ห้วยขุนลาว ห้วยน้ำลาวฝั่งซ้าย และห้วยน้ำตกขุนลาว ชาวบ้านยังมีการพบเจอตัวเต่าปูลูอยู่เป็นระยะๆ และมีชุกชุมในชุมชน
น้ำแม่ลาวมีต้นกำเนินในเทือกเขาภูลังกา ในเขตอำเภอเชียงคำ ไหลผ่านอำเภอเชียงคำ และไปบรรจบแม่น้ำอิงที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร
เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว มีสถานภาพการอนุรักษ์ อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically Endangered-CR มีลักษณะจำเพาะกระดองหลังมีสีน้ำตาลดำ กระดองท้องสีเหลืองอมส้ม หัวใหญ่ จงอยปากแหลมคล้ายปากนกแก้ว หดหัวเข้ากระดองได้ไม่เต็มที่ ขาใหญ่และหดเข้ากระดองไม่ได้ เท้ามีเล็บ หางยาวกว่าความยาวของกระดอง มีเดือยแหลมขนาดเล็กบริเวณขา รอบ ๆ รูทวารและที่โคนหาง กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย