เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 ที่ห้องประชุมเอนกประสงค์ วัดนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา พระราชวรเวที เจ้าคณะจังหวัดสงขลา และพระครูสุวัฒนภรณ์ รอง เจ้าคณะจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพระสังฆาธิการ เข้าร่วมประชุมเพื่อดูความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะสงฆ์ของจังหวัดสงขลา ด้านสาธารณประโยชน์ของคณะสงฆ์ รักษามาตรฐานการบริหารวัดตามหลักธรรมาภิบาลด้านสาธารณสงเคราะห์และปรับปรุงในส่วนที่ยังมีปัญหา เช่นการชักชวนให้ประชาชนเข้ามาใส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม การใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่ในการช่วยเหลือสังคม และการอนุญาตให้ใช้วัดเป็นสถานที่ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคร้าย ผู้ยากไร้ และผู้ประสบภัยเป็นต้น
ปัจจุบันวัดมักจะเป็นศูนย์กลางของชุมชน มีกิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้นในวัดนั้นจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนนั้นๆ และสมาชิกชุมชน ช่วยกันดูแลพัฒนาวัดให้เป็นระเบียบและให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การจัดระเบียบหรือวางผังวัดให้ดูสวยงาม การแบ่งอาณาบริเวณของวัด เช่นเขตที่มีการปลูกสร้างอาคารที่สำคัญ ได้แก่อุโบสถ วิหาร เจดีย์ สถูป ศาลาการเปรียญ และสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นแดนที่สงบเรียบร้อย ,เขตสังฆวาส เขตที่อยู่อาศัยและจำพรรษาของพระภิกษุ อาคารที่พระภิกษุจำเป็นต้องใช้ส้อย ได้แก่ โรงครัว หอฉัน โรงเก็บพัสดุ โรงไฟฟ้า โรงประปา ศาลารับแขก ส่วนเขตสาธารณสงเคราะห์ คือบริเวณที่ทางวัดกันไว้ เพื่อสงเคราะห์แก่ประชาชน เช่น เป็นที่ตั้งโรงเรียนสถานพยาบาล สมาคมทางศาสนา โรงเรียนปริยัติธรรม ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ต่อจากนั้น เลขาธิการ ศอ.บต. เผยสาเหตุพุทธถดถอยใน จชต.ชี้ วัด และพระสงฆ์ต้องได้รับการดูแลเพราะสามารถทำให้ช่องว่างระหว่างศาสนาลดน้อยลง
โดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัด 4 อำเภอในรอบ 17 ปีว่า ได้สร้างความสูญเสียให้กับ พระ วัด และคนไทยพุทธ เป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุที่เป็นปัญหาของพระ และ วัด ในพื้นที่ได้รับมาจากชายไทยพุทธที่ถดถอย เช่นแต่ละครอบครัวมีลูกเพียง 1-2 คน ไปเรียนหนังสือที่อื่นแล้วไม่กลับมา หรือพาพ่อแม่ไปอยู่ด้วย หาคนบวชเป็นพระไม่ได้ ครอบครัวคนไทยพุทธย้ายออกจากพื้นที่ เพราะความไม่สงบ พื้นที่รอบวัดบางแห่งเหลือครอบครัวไทยพุทธแค่ 8 ครัวเรือน บางแห่งไม่มีเลย ส่งผลกระทบโดยตรงกับวัด และพระ วัดหลายวัดที่มีพระอยู่เพียง 1 รูป หรือ 2 รูป และยังมี สำนักสงฆ์ที่ไม่พระอยู่ ซึ่ง ศอ.บต. ได้พยายามในการฟื้นฟูวัดร้าง ให้หมดไป ซึ่งได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว ทั้งที่ อ.บันนังสตา อ.ยะหา จ.ยะลา และอีกหลายวัดทั้งใน จ.ปัตตานี,นราธิวาส และ ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยในพื้นที่ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีวัด สำนักสงฆ์ และ ที่พักสงฆ์ เกือบ 400 แห่ง ที่ จะต้องได้รับการดูแล ทะนุบำรุง เพื่อไม่ให้เกิดสภาพถดถอย
ที่ผ่านมา วัดต่างๆ ในพื้นที่ได้ทำการฟื้นฟูความถดถอยให้กลับมาได้ เช่นการให้ความช่วยเหลือ ญาติโยม ที่ได้รับความเดือดร้อนจาก “โควิด 19” ได้รับความเดือดร้อนจาก น้ำท่วม ภาพของพระสงฆ์ ที่นำถุงยังชีพออกไปให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อน กลายเป็นภาพที่สามารถลดช่องว่างระหว่างศาสนาในพื้นที่ให้แคบลง ให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ในส่วนของ ศอ.บต.เอง ได้ใช้ความพยายามทุกอย่างในการที่จะแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของความปลอดภัย และการฟื้นฟูให้วัดในพื้นที่กลับมามีความเข้มแข็งเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวของคนในชาติ ที่นอกจากสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วก็มีสถานบันทางศาสนา ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ
ในการประชุมครั้งนี้ มีเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส จาก 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประมาณ 50 รูปเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
ภาพ/ข่าว.นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา