พะเยา พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 และคณะ ร่วมประชุมหารือกับนายพินิจ แก้วจิตคงทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา สำนักงานประมงจังหวัดพะเยา สำนักงาน ธนารักษ์พื้นที่พะเยา อำเภอเมืองพะเยา พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีปัญหาการออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชนบริเวณกว๊านพะเยา ตำบลบ้านสาง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยพื้นที่ดังกล่าวคาบเกี่ยวแนวเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดพะเยาในครั้งนี้ เป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ ณ บริเวณกว๊านพะเยา และร่วมประชุมหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพื่อทำความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐและประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการแก้ไขปัญหาการขอออกเอกสารสิทธิในที่ดิน ในพื้นที่คาบเกี่ยวแนวเขตกว๊านพะเยา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา สำนักงานประมงจังหวัดพะเยา สำนักงานธนารักษ์พื้นที่พะเยา อำเภอเมืองพะเยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำวินิจฉัยกรณีสำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ร้องเรียนบริเวณกว๊านพะเยา ตำบลบ้านสาง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา เนื่องจากที่ดินดังกล่าวคาบเกี่ยวแนวเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482 ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินกว๊านพะเยาตามพระราชกฤษฎีกาฯ มีเจตนารมณ์เพื่อใช้เป็นที่กักเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีแนวเขตตามแผนที่แนบท้าย ซึ่งกำหนดขอบเขตกว๊านพะเยาไว้เพียงรูปแปลง แต่ไม่ได้มีการรังวัดจริง ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 ได้มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ พย 0149 เนื้อที่ประมาณ 12,831 ไร่เศษ โดยกรมประมงได้มีหนังสือยืนยันถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินกว๊านพะเยาภายในขอบเขตพื้นที่ตาม น.ส.ล.ดังกล่าว ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจว่า แนวเขตกว๊านพะเยา คือแนวเขตตาม น.ส.ล. ต่อมา สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาได้จัดทำรูปแผนที่แนวเขตกว๊านพะเยาโดยใช้วิธีครอบรูปจากแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ โดยได้รวมบริเวณที่ดินที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิและพื้นที่ทำการเกษตรด้วย จึงทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
พลเอก วิทวัส กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้เร่งหาทางออกเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว โดยเสนอแนะว่าหากที่ดินที่ประชาชนนำมาขอออกเอกสารสิทธิไม่มีความชัดเจนเรื่องแนวเขตหรือมีข้อสงสัยว่าอาจอยู่ในเขตที่ดินของกว๊านพะเยา ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาชะลอหรืองดการออกเอกสารสิทธิไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติการกำหนดแนวเขต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) จังหวัดพะเยา
ทั้งนี้ จากข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยาได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนของการออกโฉนดที่ดินของผู้ร้องเรียน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอนำส่งให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัดพะเยา (กบร.จังหวัดพะเยา) หากได้ข้อยุติเรื่องแนวเขตกว๊านพะเยา ซึ่งปัจจุบันมีคำขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายที่จะต้องนำเข้า กบร.จังหวัดพะเยา เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน จำนวน 83 ราย ซึ่งยังไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้จนกว่าจะมีความชัดเจนและได้ข้อยุติเรื่องแนวเขตกว๊านพะเยา ซึ่งข้อยุติเรื่องแนวเขตกว๊านพะเยานั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) ระดับภาค
พลเอก วิทวัส กล่าวในท้ายที่สุดว่า จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันนี้ (วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ) ณ ศาลากลางจังหวัดพะเยา ได้มีการปรับปรุงข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จากคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ดังนี้ จากการที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482 มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ และได้เคยมีการครอบรูปแผนที่ใช้ค่าพิกัดมีเนื้อที่คร่าว ๆ ประมาณ 16,612 ไร่เศษ แต่ไม่อาจสำรวจเพื่อปักหมุดได้ เนื่องจากมีราษฎรเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในพื้นที่ ยากต่อการชี้แนวเขตของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 กรมประมงได้มีการสำรวจรังวัดและยืนยันการใช้ประโยชน์ โดยได้ออก น.ส.ล.จำนวนเนื้อที่ 12,831 ไร่เศษ โดยได้มีการลงหลักปักหมุดแสดงแนวเขตเรียบร้อย ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงมีมติ ดังนี้
- ให้ใช้แนวเขต น.ส.ล.ของกรมประมง เป็นแนวเขตเพื่อใช้ในการบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ ตามเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482 และให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังกล่าว ให้ถูกต้องต่อไป
2. สำหรับพื้นที่ที่กันออกจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482 จำนวน 3,000 ไร่เศษ ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการขอถอนสภาพการใช้ประโยชน์เพื่อบำรุงรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ และส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดให้ประชาชนเช่าทำประโยชน์ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. สำหรับประชาชนที่มีหลักฐานการครอบครองที่ดิน หรือมีเอกสารสิทธิโดยชอบ ให้สำนักงานที่ดินจังหวัดพะเยา ดำเนินการรับรองสิทธิหรือออกหลักฐานเอกสารสิทธิตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของประชาชน
4. ให้จังหวัดพะเยารับเรื่องของผู้ร้องเรียนและราษฎรรายอื่นที่ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินไว้แล้ว นำเข้าพิสูจน์สิทธิใน กบร.จังหวัดพะเยา ดำเนินการตามระเบียบฯและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเสนอแนะให้จังหวัดจัดให้มีการประชุม กบร.จังหวัด เป็นประจำทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และให้รายงานผลการพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะได้ตามกำหนดเวลาข้างต้น ให้แจ้งต่อผู้ตรวจการแผ่นดินทราบก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย
พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า “เรื่องการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับราษฎรที่อยู่ในบริเวณกว๊านพะเยา หากได้ความชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตพื้นที่กว๊านพะเยาตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา อำเภอพะเยา จังหวัดเชียงราย พุทธศักราช 2482 แล้ว จะทำให้ทราบถึงพื้นที่ที่อยู่นอกเขต น.ส.ล. แต่อยู่ในแนวเขตตามพระราชกฤษฎีกาฯ ซึ่งหากกรมประมงยืนยันการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา ภายในขอบเขตพื้นที่ตาม น.ส.ล. ก็ควรมีการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตต์หวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยาฯพุทธศักราช 2482 เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณดังกล่าวไว้เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยให้กรมธนารักษ์และกรมประมงเป็นผู้ร่วมชี้แนวเขตดังกล่าว และให้รัฐโดยหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ดำเนินการที่ดินส่วนที่เหลือให้เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป”
ภาพ/ข่าว พรรณณีย์ มูลเทศ