นางมณี อนันทบริพงษ์ ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.สกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มที่สนับสนุน”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่.อ.จะนะ ได้เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมา ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษรและสหกรณ์ ที่เดินทางมาเพื่อรับฟังความเห็นจาก กลุ่มผู้ต่อต้านโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ว่า ตนพร้อมผู้นำกลุ่มคนอื่นๆ และคนใน อ.จะนะกว่า 200 คน ได้พบกับ ร.อ.มนัส พรหมเผ่า เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ รัฐบาล เข้าใจถึงเรื่องของการต่อต้านที่มี เอ็นจีโอ เป็นผู้นำ และให้เร่งผลักดัน เมืองต้นแบบให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาความยากจน คนว่างงาน และอื่นๆ
โดยแถลงการณ์ของกลุ่ม “เครือข่ายประชาชนจะนะ อาสา เพื่อพัฒนาถิ่น”มีใจความว่า กรณี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงผลการเจรจาการแก้ไขปัญหาระหว่างกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น กับผู้แทนรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ ที่ 14 ธันวาคม 2563 พวกเรารับทราบจากสื่อและการบอกต่อปากต่อปากจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลสะกอม ตำบลนาทับ และตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนดนโยบายให้ทำเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อันนำไปสู่การสร้างความคาดหวังต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเราซึ่งแว้ว่าจะมีอีกไม่กี่ปีก็ตาม แต่สำคัญอยู่ที่การสร้างภาพอนาคตของลูกหลานพวกเราที่จำเป็นจะต้องดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเท่าเทียมและมีหน้ามีตาเช่นเดียวกับพี่น้องในพื้นที่ต่างอำเภอและต่างพื้นที่
แต่เมื่อปรากฏข้อความว่ามีได้มีการเจรจาระหว่างร้อยตำรวจเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนของรัฐบาล กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ประกอบด้วยประชาชนส่วนหนึ่งในพื้นที่อำเภอจะนะซึ่งนำโดย นายรุ่งเรือง ระหมันยะ พร้อมแกนนำ NGOs จากนอกพื้นที่เช่น จากจังหวัดสตูล และภาคอื่นๆ และที่สำคัญยังมีข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับราชการอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ ซึ่งตอนนี้สวมหมวกเป็น NGOs เช่นเดียวกัน โดยมีทีท่าว่าจะให้มีการชะลอโครงการไปก่อน จนกว่าจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงฯ แล้วเสร็จ ในฐานะที่พวกเราดำเนินงานเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สัมผัสการทำงานของกระบวนการภาคประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญรับรู้และเข้าปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่เป็นเสมือนครอบครัวของพวกเรามาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จึงมีคำถามกับรัฐบาลในเรื่องที่กระทำกันเช่นนี้ ได้แก่ 1. การที่รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวนน้อย เพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยคนในพื้นที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นความชอบธรรมแล้วหรือไม่ ที่ใครก็ได้จะสั่งให้มีการชะลอโครงการในทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ทำไมรัฐบาลไม่เปิดเวทีให้ประชาชนเสียงส่วนใหญ่ หรือ คนหมู่มากในพื้นที่ที่เห็นด้วยกับโครงการได้ทำงานและขับเคลื่อนการทำงานไปสู่เป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดได้ออกมาสะท้อนเสียงที่แท้จริงของตนเองบ้าง ในเมื่อพวกเราต่างก็เชื่อมั่นว่าโครงการของรัฐบาลที่มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพวกเรา และพวกเราได้ให้ใจกับการทำงานอย่างเต็มที่เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้นี้ เราต้องบอกว่าปีกว่าที่ผ่านมา เราทำงานอย่างหนักและเสียเวลากับการทำความเข้าใจของประชาชนพี่น้องเรา ครอบครัวของเรา จนกลุ่มเห็นต่าง/ไม่เห็นด้วยกลับมาเห็นด้วยและเป็นแกนนำคนสำคัญในการเรียกร้องในวันนี้ ดังนั้น พี่น้องที่ร่วมทำงานกันมาในวันนี้ จะไม่ยอมให้มีการชะลอโครงการแต่อย่างใด ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการกฎหมาย ระเบียบที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนสูงสุดในพื้นที่แห่งนี้ 2. ขอให้รัฐบาลใส่ใจ ให้ความสำคัญกับการรับฟังเสียงของประชาชนที่เป็นประชาชนอย่างแท้จริง เพราะพวกเราคือประชาชนที่กิน อยู่ หลับ นอนและตายในพื้นที่แห่งนี้ ลูกหลานของพวกเราก็เช่นกัน ดังนั้น เราต้องการให้ลูกหลานของเราทั้งในวันนี้และในอนาคต ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีงานทำ พี่น้องเกษตรกรได้ทำเกษตรที่มีตลาดรองรับที่แน่นอน พี่น้องอื่น ๆ ได้รับโอกาสการพัฒนาในทุกมิติที่เชื่อมโยงถึงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา พหุวัฒนธรรม ฯลฯ ทุกอย่างที่รัฐบาลคิดและตัดสินใจพวกเราเชื่อว่าต้องทำ โดยสุจริตและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ต้องระหกระเหเร่ร่อนไปทำงานต่างพื้นที่ต่างบ้านต่างเมือง เช่น ที่ผ่านมา ให้รัฐบาลลองไปถามชีวิตประมงพื้นบ้านที่แท้จริงว่า วันนี้เขามีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร มีรายได้เพียงพอกับรายจ่ายไหม เพื่อยืนยันว่าคนในพื้นที่ต่างรอคอยการพัฒนามาอย่างช้านานแล้ว 3. กระบวนการที่ผ่านมา นำกระบวนการประชาชนมีส่วนคิด ออกแบบและดำเนินการด้วยตัวเองแล้ว โดยมีรัฐและราชการให้การสนับสนุนมาตั้งแต่แรก หากมีการรับฟังว่ากระบวนการทำงานไม่ชอบธรรม นั้นเท่ากับว่ากระบวนการภาคประชาชนไร้ความหมาย เป็นการดูถูกและไม่ให้ค่า ไม่เพียงแค่กลุ่ม NGOs และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นต่อประชาชนด้วยกันเอง การยอมรับในส่วนนี้ ก็เท่ากับรัฐบาลดูถูกประชาชนเช่นกัน ยังไม่นับรวมว่าหลายโครงการและกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะต้องโดนเลื่อนไปแบบไม่มีกำหนด เช่น ทุนการศึกษาของลูกหลานเราที่เตรียมการสำหรับการเตรียมคนเข้าสู่แหล่งงาน การพัฒนางานสาธารณสุข งานพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ที่กำลังจะเปลี่ยนไปบนฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนำการพัฒนา การก่อสร้างท่าเรือชุมชนที่ประมงพื้นบ้านต่างรอมาหลายสิบปี แนวคิดการให้โรงไฟฟ้าเป็นของชุมชนที่คิดและทำโดยประชาชน กองทุนที่เตรียมการจัดตั้งเพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของในการบริหารจัดการด้วยประชาชนเองเรื่องแรกของประเทศไทยและยังมีที่ไม่ได้กล่าวถึงอีกมาก กำลังจะถูกเลื่อน หรือ อาจจะไม่ได้รับอีกเลย มาถึงตรงนี้ รัฐบาลกำลังทำลายความหวังและความฝันของพี่น้องประชาชนกว่า 3 หมื่นคน ในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอจะนะ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกเกือบ 2 ล้านคน รัฐบาลได้คิดและทบทวนเป็นอย่างดีแล้วใช่หรือไม่
การเรียกร้องครั้งนี้ ขอให้รัฐบาลมีการสั่งการเป็นการเร่งด่วนดังต่อไปนี้ 1. เดินหน้าโครงการให้เป็นไปตามที่กำหนดทุกประการ โครงการจะเกิดขึ้นอีกหลายปี การชะลอ หรือ หยุดเป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ถ่วงเวลาและเป็นการสนองตอบต่อความต้องการของคนส่วนน้อยเท่านั้น 2. ขอให้เรื่องการพัฒนาเป็นเรื่องของพี่น้องประชาชนด้วยกันเอง ประชาชนทุกคนในพื้นที่ต้องระลึกเสมอว่าเราอยู่ในกระบวนการประชาธิปไตยตามที่หลายฝ่ายต่างเรียกร้อง ประชาธิปไตย คือ ต้องเกิดประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่โดยคนส่วนใหญ่เท่านั้น ดังนั้น ขอเรียกร้องให้แกนนำเครือข่ายประชาชนคนในพื้นที่กลับมาพูดคุยกันตามที่พวกเราได้พยายามเรียนเชิญเข้าร่วมมาในหลายโอกาส แต่ไม่เคยได้รับการตอบรับ และควรดำเนินการกับแกนนำกลุ่ม NGOs และที่เกี่ยวข้องกับการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อมิให้เรื่องดังกล่าวตกเป็นประเด็นทางการเมืองเช่นที่ผ่านมา ประชาชนขอคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง ข้อเรียกร้องข้างต้น ขอให้รัฐบาลนำกลับไปคิดและทบทวนอย่างมีสติและปลอดประเด็นการเมืองโดยให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก หากข้อเสนอครั้งนี้ ได้รับการปฏิเสธ หรือ เพิกเฉยต่อรัฐบาล พวกเราพร้อมจะมีปฏิบัติการใช้ความรุนแรงอย่างที่กลุ่มเห็นต่างได้ดำเนินการมาแล้ว และประชาชนหลายหมื่นพร้อมเสมอที่มาร่วมชุมนุมกันในพื้นที่หน้าทำเนียบเพื่อให้รัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้รับรู้และเห็นแจ้งพลังของประชาชนอย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในการเดินทางมาเพื่อติดตามปัญหาของกลุ่มผั้คัดค้าน โครงการเมืองต้นแบบครั้งนี้ของ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เอ็นจีโอ ที่เป็นแกนนำ ได้ เกณฑ์คนนอกพื้นที่ 3 ตำบล รวมทั้งว่าจ้างเรือประมงพื้นบ้านจำนวนหนึ่ง ที่อยู่นอกพื้นที่ของ 3 ตำบล มาต้อนรับ รมช.เกษตรฯ เพื่อที่จะให้เห็นว่า มีผู้ที่คัดค้านโครงการ เมืองต้นแบบ เป็นจำนวนมาก