สืบทอดประเพณี “ตานต๊อด” การมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ยากไร้ในหมู่บ้าน

0
(0)
image_print


กลางดึกวันที่ 25 ธ.ค.63 ชาวบ้านป่าแฝ ม.3 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นำโดยนายชูชาติ ทิจินะ ผู้ใหญ่บ้านป่าแฝ และชมรมบ่าวบ้านแห่งประเทศไทย ได้ร่วมใจกันสืบทอดประเพณี “ตานต๊อด” ภาษากลางคือ ทานทอด เป็นคำประสมระหว่างคำว่า ทาน กับ ทอด ความหมายคือ  “วางของให้”  ก็คือการให้ทาน  ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงถึงความเอื้ออาทรของชาวบ้านที่มีต่อคนทุกข์ยาก เป็นการทำบุญด้วยใจไม่หวังผลตอบแทน ประเพณีตานต๊อดมีต้นกำเนิดมาจากล้านนา โดยได้มอบให้กับ 1.ยายติ๊บ จันปวนหาญ อายุ 75 ปี 2.ยายแสง กันทิยา. อายุ 70 ปี 3.ยายนาง จันทรา . อายุ 65 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าแฝ

โดยการทำบุญประเภทนี้จึงมีแต่เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น และในปัจจุบัน จึงมีการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวล้านนาไว้ แต่จะจัดกิจกรรมเฉพาะกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นส่วนเด็กและเยาวชนในตำบลมีน้อยคนนักที่จะรู้จักประเพณีตานต๊อด เนื่องจากข้อจำกัดของพิธีตานต๊อดที่เป็นสาเหตุให้เด็กและเยาวชนไม่รู้จักก็คือ พิธีตานต๊อดจะจัดในช่วงกลางคืน เวลาประมาณ  22.00-24.00 น. ซึ่งเด็ก ๆ นอนหลับกันหมดแล้ว  จึงมีแต่กลุ่มผู้ใหญ่เท่านั้นที่ไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ซึ่งการจัดประเพณีดังกล่าวจะทำกันหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวและขายข้าวได้ของชาวบ้านเมื่อพอมีกำไรก็จะมีการจัดประชุมชาวบ้าน เพื่อปรึกษาหารือและสำรวจความคิดเห็นว่า บุคคลใดในหมู่บ้านที่ได้รับความเดือดร้อน สมควรได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน และนัดหมายเวลา พร้อมจุดนัดพบเพื่อรวมตัวกันที่บ้านหลังใดหลังหนึ่งอาจะเป็นบ้านของผู้เริ่มกิจกรรมที่ต้องการจะช่วยเหลือการเตรียมงานเริ่มที่บ้านหรือศาลาวัด เพื่อรวบรวมสิ่งของให้ครบซึ่งมีทั้งเครื่องอุปโภค และบริโภค ตลอดจนเครื่องมือ เครื่องใช้ ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อาทิ  ข้าวสารอาหารแห้ง  ปลากระป๋อง  พริกแห้ง  กะปิ  น้ำปลา เกลือหัวหอม หัวกระเทียม  น้ำมันพืช  ขนม นม  ฯลฯ  และถ้าเป็นของใช้ ได้แก่  สบู่ ยาสีฟัน  ผงซักฟอก  ยาสระผม  มีด พร้า ขวาน  จอบ  เสียม  หม้อข้าว  หม้อแกง  ถ้วย ชาม หม้อน้ำ  หม้อนึ่งข้าว  เสื่อสาด หมอน มุ้ง  รองเท้า  เสื้อผ้า  ผ้าขาวม้า  ผ้าเช็ดตัว  ฯลฯ แล้วแต่จิตศรัทธาจะทำบุญ นำสิ่งของทั้งหมดมาจัดแต่งและอาจมีต้นเงินเพื่อนำเงินที่ชาวบ้านทำบุญมาเสียบไว้ที่ต้นเงิน จัดทำกันแบบเงียบ ๆ และเรียบง่ายไม่มีพิธีรีตองโดยรู้กันเฉพาะกลุ่มที่จะทำบุญเท่านั้น ใครรู้ก็มาช่วยกัน

เมื่อถึงเวลาชาวบ้านมารวมตัวกันนัดพบแล้ว  อาจจะนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธี หรือคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อหนาน” จะเป็นผู้ทำพิธีสวดและพรมน้ำมนต์สิ่งของทั้งหมดที่จะตานต๊อด  เพื่อความเป็นสิริมงคลแล้วจึงช่วยกันถือของที่จะตานต๊อดพากันเดินไปยังบ้านที่จะมอบสิ่งของให้อย่างเงียบ ๆ ไม่ส่งเสียงดังแล้วนำเอาของทั้งหมดไปวางไว้บริเวณหน้าบ้าน เช่น  หัวกระไดบ้าน หรือหน้ากุฏิ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จุดเทียน ธูปบูชา ตั้งจิตภาวนา เอาบุญเสร็จแล้ว จึงจุดประทัดชนิดต่าง ๆ ที่มีเสียงดัง เพื่อให้เจ้าของบ้านตกใจตื่น ส่วนคณะศรัทธาเจ้าภาพที่มากันทุกคน ก็พากันหลบซ่อนหมดไม่ให้เห็นตัว คอยแอบดูว่าผู้รับจะออกมารับด้วยวิธีใด เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูออกมาจะเห็นเทียนจุดอยู่หลายเล่มใกล้ ๆ กับสิ่งของที่นำไปให้ก็จะทราบว่ามีคนเอาของมาวางไว้ให้ ถ้าคนเคยบวชเรียนมาแล้วก็จะกล่าวว่า “อิทังเป๋นะปะติถัง”“นี่เป็นของผีหรือของคน”แล้วเข้าไปจุดธูปไหว้พระในบ้าน ทำเช่นนี้ประมาณ 3  ครั้ง จึงพูดว่า “เห็นทีจะเป็นของคนแน่แล้ว จะรับไว้แล้วนะ ขอให้รับพรด้วย”แล้วก็กล่าวคำให้ศีลให้พรคณะศรัทธาทั้งหมดที่หลบอยู่ก็พากันยกมือไหว้รับพร เสร็จแล้วจึงแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความอิ่มเอมใจในผลบุญที่ได้ทำร่วมกัน

ซึ่งในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ทางชมรมบ่าวบ้านแห่งประเทศไทย และชาวบ้านป่าแฝ ม.3 ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้ร่วมกันเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของล้านนาไว้ เพื่อไม่ให้สูญหายไป โดยในการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติในรับ “ตานต๊อด” นั้นจะมีการประชุมกันภายในหมู่บ้านเพื่อลงความเห็นว่า ใครมีคุณสมบัติ และในการคัดเลือกได้ลงมติให้กับผู้สูงอายุในหมู่บ้านป่าแฝ จำนวน 3 คน หลังจากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้รับการชื่นชมจากผู้ที่ได้รับตานต๊อด และกล่าวว่าเป็นการสืบทอดประเพณีที่ดีน่าจะมีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่เห็นประเพณีนี้มากว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งชมรมบ่าวบ้านแห่งประเทศไทย แจ้งว่าจะมีการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีอย่างนี้ต่อไป
///////////////////////////

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »