เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายวุฒิชัย รักษาสุข ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รักษาการในตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 1 ให้การต้อนรับนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำและสื่อมวลชน ในการประชุมชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2565 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน) ณ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานชลประทานที่ 1 ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมสถานการณ์น้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล สถานการณ์น้ำท่า
และแผนการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลลงแม่น้ำปิง เพื่อให้ปริมาณน้ำในลำน้ำปิงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน
ในการนี้ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 กล่าวว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน วัดที่สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณสะสม 1,066 มิลลิเมตร และสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดลำพูน มีปริมาณสะสม 1,067 มิลลิเมตร ถือว่าน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 3-4% สำหรับปริมาณน้ำในลำน้ำปิงที่ไหลผ่านสถานี P.1 (สะพานนวรัฐ) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 573 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยร้อยละ 63% ส่งผลให้เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำในเขื่อน 115.970 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 43.73% ของความจุเก็บกัก อย่างไรก็ตามสำนักงานชลประทานที่ 1 มีแผนการจัดสรรน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลปี 2564/65 โดยได้คาดการณ์ปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 มกราคม 2565 เท่ากับ 108 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นปริมาณน้ำสำหรับการเกษตรในพื้นที่โครงการแม่แฝก-แม่งัด 33 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่ตลอดแนวลำน้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการเตรียมแปลงฤดูฝนปี 2565 เท่ากับ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร และเตรียมความพร้อมสำหรับฝนทิ้งช่วง 8 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนสูญเสียจากการระเหย รั่วซึมและปริมาณน้ำที่ไม่สามารถใช้การได้ เพื่อความปลอดภัยของเขื่อนอีก 18 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับแผนการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลลงแม่น้ำปิงในช่วงฤดูแล้งปี 2565 จะเริ่มส่งตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จำนวน 21 รอบเวร มีปริมาณน้ำ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแต่ละรอบเวรจะทำการเติมน้ำในวันเสาร์และวันอาทิตย์โดยจะขอความร่วมมือกลุ่มเกษตรกรงดการใช้น้ำ เพื่อให้น้ำสามารถเดินทางไปถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำ หลังจากนั้นจึงกำหนดให้ใช้น้ำพร้อมกันในวันจันทร์ เวลา 09.00 น. จนถึงวันศุกร์ เวลา 18.00 น. ยกเว้นเพื่อการอุปโภค-บริโภค และประปาสามารถสูบน้ำได้ทุกวัน ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนในการปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานชลประทานที่ 1 เป็นผู้ดูแลควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำปากคลองส่งน้ำในแต่ละจุด หากในกรณีที่มีปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ กลุ่มผู้ใช้น้ำสามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ชลประทานผู้ดูแลในแต่ละพื้นที่ทราบเพื่อให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม ในส่วนของ
การประปาส่วนภูมิภาคที่มีสถานีผลิตและสูบน้ำดิบจากแม่น้ำปิง สามารถสูบน้ำได้ตามแผนการผลิต และขอให้พิจารณาเพิ่มศักยภาพของแหล่งน้ำดิบ โดยการขุดลอกทางน้ำเพื่อเพิ่มปริมาตรความจุเก็บกัก ขุดร่องชักน้ำ หรือหามาตรการอื่นๆรองรับ
และในเวลา 11.00 น. ที่ประชุมได้รับฟังการบรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย” โดยนายปฐมชาติ ศรีเจริญจิตร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเลือกปลูกชนิดพืชที่เหมาะสมให้กับผู้เข้าร่วมประชุมในกรณีที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งในปีนี้สำนักงานชลประทานที่ 1 สามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรได้เพียง 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 17 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยสามารถส่งน้ำสนับสนุนให้พื้นที่ไม้ผล-ไม้ยืนต้น และพืชที่ใช้น้ำน้อยเท่านั้น จึงขอความร่วมมือเกษตรกรทุกภาคส่วนงดการปลูกข้าวนาปรังเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใดๆในพื้นที่ หลังจากนั้นได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมอภิปราย และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการน้ำโดยมีนายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา
นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล รวมถึงหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนเป็นผู้ตอบข้อซักถาม.