เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนและหัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 71,000 ล้านบาท โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ว่าขณะนี้กำลังศึกษาเนื้อหาใน EIA ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไรบ้างโดยเฉพาะ 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องโดยเฉพาะที่ชาวบ้านพูดกันมากคือ กรณี EIAฉบับร้านลาบ ที่เป็นการนัดพบและรับประทานอาหาร แต่กลับถูกนำรูปภาพและชื่อมาอ้างว่าเป็นการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ซึ่งทีมกฎหมายกำลังรวบรวมข้อมูลและเนื้อหาจากพื้นที่จริงว่ามีการสำรวจอย่างถูกต้องหรือไม่ 2. กระบวนการจัดทำ EIA ซึ่งมีระเบียบระบุชัดเจนว่าว่าต้องมีขั้นตอนในการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เท่าที่ทราบคือ ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เพียงพอ
หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าวว่าการพิจารณาผ่านความเห็นชอบใน EIA โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) ซึ่งมีสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.)เป็นกองเลขานุการ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมานั้น ต้องดูขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลในรายงาน EIA ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตอนนี้เห็นว่ามีความผิดปกติ เพราะเพิ่งผ่านคชก.และก็มาเข้า กก.วล. ในเวลาไม่นาน แล้วอนุมัติให้ผ่าน ทั้งๆ ที่มีข่าวออกมาโดยตลอดว่าในรายงาน EIA ฉบับนี้ข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งขณะนี้ทีมกฎหมายเตรียมยกร่างคำฟ้องต่อศาลปกครองโดยเริ่มจากดำเนินการส่งหนังสือคัดค้านการพิจารณาผ่าน EIAไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สผ. และ กก.วล. ในสัปดาห์หน้า และรอผลคำสั่งภายใน 60 วัน หากมีการยกเลือกรายงาน EIA หรือไม่ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งผ่าน EIA ก็จะดำเนินการฟ้องศาลปกครองต่อไป
นส.ส.รัตนมณี กล่าวอีกว่าเมื่อชาวบ้านทำจดหมายไปขอคัดสำเนา EIA จาก สผ. กลับมีคำตอบมาว่าต้องมีค่าใช้จ่ายคือค่าคัดสำเนา กระดาษขนาด A4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 4,803 บาท และกระดาษขนาด A3 หน้าละ 3 บาทจำนวน 219 หน้าเป็นเงิน 657 บาท รวมเป็นเงิน 5,460 บาท และค่ารับรองสำเนา อัตราคำรับรองละ 3 บาท (5,022 หน้า) เป็นเงิน15,066 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,526 บาท
“กลายเป็นว่าเมื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือมีส่วนได้เสียขอสำเนารายงาน EIA กลับมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น จริงๆ แล้ว รายงาน EIA ควรมีการเปิดเผยต่อสาธารณะที่สามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น เผยแพร่บนเว็บไซต์ แต่กลับไม่มีการเผยแพร่ ตอนนี้ทีมกฎหมายกำลังเตรียมเรื่องส่งถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ว่าเหตุใดประชาชนต้องเสียค่าถ่ายเอกสารและค่ารับรองเอกสาร จริงๆ หน่วยงานรัฐควรต้องส่งให้ชาวบ้านเมื่อมีการร้องขอ ไม่ใช่ผลักให้เป็นภาระของประชาชน และยังมีการแจ้งว่าจะต้องปกปิดข้อมูลบางส่วนก่อนถ่ายสำเนาเอกสารให้ ทั้งๆที่โครงการดังกล่าวเป็นของรัฐซึ่งจะต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปิดบังข้อมูลใดๆ คงต้องขอให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯพิจารณาให้ความเห็นในส่วนของค่าถ่ายเอกสารราคากว่า 2 หมื่นบาทตอนนี้มีการระดมทุนเนื่องจากชาวบ้านไม่มีเงิน เมื่อระดมทุนได้ครบแล้วทนายความจะไปรับเอกสารภายในวันจันทร์ เพื่อให้นำมาตรวจสอบได้” หัวหน้าคณะทำงานด้านกฎหมาย กล่าว
วันเดียวกันที่อาคารรัฐสภา นายอภิชาต ศิริสุนทร นายมานพ คีรีภูวดลและนายคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีที่กรมชลประทานเดินหน้าดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม มูลค่า 71,000 ล้านบาท โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยนายมานพกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ผ่านพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะได้รับผลกระทบซึ่งมีข้อสังเกตว่าการผลักดันโครงการนี้เป็นไปด้วยควาเร่งรีบท่ามกลางสถานการณ์โควิด ทำให้การมีส่วนร่วมและการรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง
นายนพดลกล่าวว่า การศึกษา EIA ของโครงการนี้ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นั้น ประชาชนเรียกว่า EIA ร้านลาบเพราะกลุ่มคนที่ทำการศึกษาได้ไปคุยกับชาวบ้านที่ร้านลาบ ที่สำคัญเรื่องผลกระทบโดยตรงกับประชาชนแทบไม่ได้เขียนไว้ ทั้งที่อำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อำเภออมก๋อยและฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่ปลายอุโมงค์ในอำเภอฮอด ซึ่งชาวบ้านย่านนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนภูมิพลมาครั้งหนึ่งแล้ว ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐแบบซ้ำซาก
“ประเด็นการทำ EIA ครั้งนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการ ประชาชนและภาคประชาสังคม ออกมาคัดค้านและตั้งข้อสังเกต และในพื้นที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำชั้น 1 เอ ผลกระทบในเรื่องป่าต้นน้ำและระบบนิเวศน์เกิดขึ้นแน่นอน คำถามคือหน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปล่อยให้ EIA นี้ผ่านอย่างง่ายดายได้อย่างไร โครงการลักษณะนี้มีการทำ EIA ที่ขาดการมีส่วนร่วมและสุดท้ายได้รับการต่อต้านจากประชาชน กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ดำเนินโครงการและประชาชน”นายมานพ กล่าว
นายมานพกล่าวว่า อยากเรียกร้องคือการดำเนินโครงการขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจ การจัดทำ EIA ที่ครบถ้วนและรอบด้าน
นายอภิชาต ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏรกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวมทั้งเรื่องวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นข้อสังเกตต่างๆที่ภาคประชาชนกังวลเป็นเรื่องที่รัฐต้องทบทวนและศึกษาเอาความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจ เช่น เรื่องการมีส่วนร่วมใน EIA ไม่ควรต้องเร่งรีบ แต่ภาครัฐกับเร่งรีบ และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนยังไม่รอบด้าน ควรเปิดให้ประชาชนได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ โครงการใหญ่ๆที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ ในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.จะนำเรื่องร้องเรียนและข้อกังวลของประชาชนเข้าสู่กระบวนการและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง รวมทั้งภาคประชาชนเพื่อเสนอแนะไปยังรัฐบาล
นายคำพอง เทพาคำ รองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า การศึกษายังไม่แล้วเสร็จซึ่งการนำน้ำจากแม่น้ำสาละวินมายังเขื่อนภูมิพลซึ่งเป็นเพียงความเห็นของ กมธ.บางคน แต่ไม่ใช่บทสรุปของผลการศึกษา