วันที่ 13 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนรินทร์โชติ เมืองใจหล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ตาแมว และ นางสาว ประภาวรินทร์ วิเชียรสรร ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านแม่ตาแมว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ต้องขับรถขึ้นลงเขา ด้วยความระมัดระวัง เพราะเส้นทางทุรกันดาร มีทั้งหลุมลึก ล่องน้ำ และหน้าผาสูงชันข้างทาง โดยใช้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว และรถจักรยานยนต์ จากที่ตั้งของโรงเรียน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ซึ่งมีระยะทาง 11 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที เพื่อเดินทางไปเบิกเงิน จำนวน 44,000 บาท ที่ธนาคาร ในตัวอำเภอแม่สรวย และนำกลับมามอบให้ผู้ปกครองนักเรียน ที่โรงเรียน รายละ 2,000 บาท จำนวน 22 คน รวมระยะทางไปกลับ จากโรงเรียน ถึงถนนทางขึ้น 22 กิโลเมตร การเดินทางใช้เวลา 1 ชั่วโมง
เมื่อได้เงินเยียวยานักเรียน ก่อนส่งมอบก็จะแจ้งถึงการได้มาของเงิน ก่อนที่จะได้มอบให้ผู้ปกครองเป็นรายบุคคล และให้ลงชื่อรับเงินไว้เป็นหลักฐาน
นายนรินทร์โชติ เมืองใจหล้า ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่ตาแมว กล่าวว่า เมื่อได้รับโอนเงินมาก็เร่งเบิกจ่ายมาให้ผู้ปกครองทันที เพราะมีข้อกำหนด ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน หลังจาก ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โอนเงินมา สำหรับโรงเรียนบ้านแม่ตาแมว การเดินทางคืออุปสรรค เพราะหากฝนตกจะไม่สามารถขึ้นลงได้เลยเพราะเป็นเส้นทางที่ทุรกันดารอย่างมาก แต่ด้วยหน้าที่ของครู และผู้บริกหารสาถานศึกษา ก็ต้องเร่งดำเนินการให้ผู้ปกครอง ที่ทั้งหมดเป็นชาติพันธุ์อาข่า หลังจากมอบเงินไปแล้วทุกคนดีใจ ที่ได้รับเงินช่วยเหลือครั้งนี้
นางแรมจันทร์ อางีกุ ผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนบ้านแม่ตาแมว กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับเงินจำนวนนี้ และจะนำไปใช้จ่ายสำหรับลูก ทั้งซื้อชุดนักเรียน รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนบางอย่าง เพราะที่ผ่านมาครอบครัวไม่มีรายรับเลย ทำให้ลูกต้องใส่เสื้อผ้าชุดเก่า รองเท้าที่ขาด โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด19 เรียกได้เลยว่ามีแต่รายจ่าย รายรับไม่เข้าครอบครัว เพราะทำอาชีพเกษตรกร ปีหนึ่งก็จะได้รายรับครั้งเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนบ้านแม่ตาแมว ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2
เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในป่าใหญ่พื้นที่เขาสูงในถิ่นทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนดินแดง ห่างจากถนนสายเชียงใหม่-เชียงราย 11 กม. ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที มีหมู่บ้านเเดียว 60 หลังคาเรือน มีประชากร 200 คน เป็นชาวเผ่าอาข่า โรงเรียนมีนักเรียน 22 คน มีครู 1 คน พนักงานราชการ 1 คน ลูกจ้าง 3 คน และ ผู้อำนวยการ จัดการเรียนการสอน ระดับอนุบาล – ป.6
การเดินทางของครู เส้นทางที่ใช้เป็นทางเปลี่ยว เนื่องจากไม่มีบ้านเรือนผู้คนตั้งอยู่ระหว่างทาง ต้องใช้วิธีขี่รถจักรยานยนต์ไปเป็นคู่กับเพื่อนครูอีกคนหนึ่ง ไม่ก็ชาวบ้านที่จะเข้าพื้นที่ เข้าออกพร้อม ๆ กัน ในช่วงฤดูฝนเส้นทางดังกล่าวจะลำบากมาก เนื่องจากทางลื่น และมักจะมีต้นไม้หักโค่นลงมาขวางทางเป็นประจำ หากช่วงไหนที่ฝนตกหนักมากไม่สามารถเดินทางขึ้นลงได้ก็จะใช้วิธีนอน ที่ห้องสมุดของโรงเรียน
ภายในโรงเรียนมีบ้านพักครูไม่เพียงพอ ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ที่โรงเรีย ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานโซล่าเซล ส่วนในหมู่บ้านใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ มีการเปิด-ปิดเป็นเวลา