ทส. เผย ไทยมีความหลากหลายทางระบบนิเวศสูง แต่ปี 2563 มีแนวโน้มถูกคุกคามเพิ่มขึ้น ต้องเร่งส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

0
(0)
image_print

เมื่อวันที่ (1 กันยายน 2564) เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ร่วมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ดร.อัษฎาพร ไกรพานนท์ รองปลัดกระทรวงฯ คณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ เผยสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย พ.ศ. 2563 มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่มีแนวโน้มการถูกคุกคามเพิ่มขึ้น ต้องเร่งส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อลดการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศของประเทศและของโลกต่อไปได้

โดยในวันนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามมติ กอช. รวมถึงแนวทางปฏิบัติในการสร้างธรรมาภิบาลข้อมูลของระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ผลการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการและเทคโนโลยี ครั้งที่ 24 และการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน ครั้งที่ 3 การดำเนินงานภายใต้เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบายวิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ ปี พ.ศ. 2564 การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยภายใต้กรอบอาเซียน ปี พ.ศ. 2564 และสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย พ.ศ.2563 ที่จัดทำขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)

ผลการศึกษา พบว่า สถานภาพระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลายทางระบบนิเวศครบทั้ง 7 ระบบ คือ ระบบนิเวศป่าไม้ ระบบนิเวศภูเขา ระบบนิเวศแห้งแล้งกึ่งชื้น ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน ระบบนิเวศเกษตร ระบบนิเวศทะเลและชายฝั่ง และระบบนิเวศเกาะ โดยในปี 2563 พื้นที่ระบบนิเวศป่าไม้ มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ ขณะที่ระบบนิเวศชายฝั่งยังคงเผชิญกับการกัดเซาะชายฝั่ง ป่าชายหาดมีจำนวนลดลง เกิดความเสื่อมโทรมในทะเลสาบสงขลา และยังไม่มีการจัดการแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะที่เป็นระบบเท่าที่ควร ส่วนระบบนิเวศภูเขายังคงขาดองค์ความรู้ในการจัดการ โดยภัยคุกคามสำคัญ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การใช้สารเคมีทางการเกษตร การจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพ การแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับสถานภาพชนิดพันธุ์พืช พบชนิดพันธุ์ใหม่ (ระหว่างปี พ.ศ. 2557-2563) จำนวน 239 ชนิด มีพืชถูกคุกคาม 999 ชนิด และพืชสูญพันธุ์อีก 3 ชนิด โดยภัยคุกคามเกิดจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรม คมนาคม การท่องเที่ยว การเก็บเพื่อการค้า การสูญเสียพันธุกรรมจากการผลิตสายพันธุ์เดียวเพื่อการค้าโดยละทิ้งสายพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม การทำลายและรุกล้ำพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพสูง

สถานภาพชนิดพันธุ์สัตว์ พบสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดพันธุ์ใหม่ (ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2563) จำนวน 25 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถูกคุกคาม 122 ชนิด นก 189 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 51 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 19 ชนิด และปลา 290 ชนิด โดยภัยคุกคาม เกิดจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ การบุกรุกพื้นที่ป่า การค้าสัตว์ป่า รวมทั้งการนำเข้าสัตว์ต่างประเทศ การสูญเสียถิ่นอาศัยเนื่องจากการพัฒนาเมืองและการสร้างโครงสร้างต่าง ๆ การทำประมงเกินศักยภาพ ปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พบชนิดพันธุ์ใหม่ (ระหว่างปี พ.ศ. 2559-2563) จำนวน 96 ชนิด ถูกคุกคาม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มย่อยปะการัง 107 ชนิด กลุ่มย่อยครัสเตเชียน 14 ชนิด และกลุ่มมอลลัสก้า 183 ชนิด โดยภัยคุกคาม เกิดจากการทำลายถิ่นอาศัย การเก็บเกี่ยวเพื่อการค้า มลพิษต่างๆ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ส่วนสถานภาพจุลินทรีย์ พบชนิดใหม่ (ระหว่างปี พ.ศ. 2561-2563) จำนวน 98 ชนิด และมีการพบในธรรมชาติในประเทศไทย 7 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ราเส้นสาย ประมาณ 6,000 ชนิด เห็ด 1,863 ชนิด ยีสต์ ประมาณ 250 ชนิด แบคทีเรีย ประมาณ 250 ชนิด สาหร่ายขนาดเล็ก 100 ชนิด ไลเคน 1,292 ชนิด และแอคติโนมัยสีท ประมาณ 7 วงศ์ (Family) 19 สกุล (genus) ทั้งนี้ ภัยคุกคามต่อจุลินทรีย์ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม ไฟป่า มลพิษทางดิน น้ำ และอากาศ ทำให้อัตราการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์และไลเคนเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดการสูญเสียชนิดและสายพันธุ์จุลินทรีย์และไลเคนที่มีความหลากหลายในด้านพันธุกรรมได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบการขยายเวลา แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 และแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 ออกไปอีก 1 ปี เป็นสิ้นสุดภายในปี 2565 รวมทั้งร่วมกันพิจารณาถึงการเตรียมการสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยนำความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และโครงการ Integration of Natural Capital Accounting in Public and Private Sector Policy and Decision-making for Sustainable Landscapes ตลอดจนการปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการวิชาการฯ

ให้คะแนนบทความนี้

กรุณาเลือกจำนวนดาว

คะแนนค่าเฉลี่ย 0 / 5. จำนวนผู้ให้คะแนนโวต 0

ยังไม่มีผู้ให้คะแนนบทความนี้

Sending
User Review
0 (0 votes)

Leave a Reply

Translate »