ป่า&สัตว์ป่า ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สมบูรณ์จริง พบเสือโคร่ง ขยับออกมาจากป่าห้วยขาแข้ง ข้ามห้วยมาล่ากวางป่า กัดจนตาย แล้วลากข้ามถนนไปซ่อนไว้ เจ้าหน้าที่แอบตั้งกล้อง ถ่ายไว้ได้
วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน smart patrol ของหน่วยพิทักษ์ฯ มว.7(คลองเสือข้าม) อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ว่า ได้พบซากกวางป่า ส่งกลิ่นเหม็น เริ่มเน่าเปื่อย อยู่ริมลำธารใกล้ๆ กับเส้นทางเดินลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ สังเกตพบซากกวางป่ามีรอยถูกกัด และถูกลากมาจากถนนอีกฝั่งหนึ่ง น่าจะเป็นร่องรอยที่เกิดจากการกระทำของเสือโคร่ง
หลังจากได้รับรายงาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัย พร้อมประสานทีมนักวิจัยสัตว์ป่าของ WWF-ประเทศไทย เข้าพื้นที่ร่วมกันตรวจสอบ และทำการติดตั้งกล้อง camera trap ไว้
จากนั้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบภาพจากกล้องดักถ่ายที่ได้ไปติดตั้งไว้ พบว่าเสือโคร่งได้กลับมากินเหยื่อที่ตัวเองล่าไว้ ตามคาด โดยเสือได้ลากซากกวางเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ
หลังจากนั้นอีก 2 วัน เจ้าหน้าที่ได้กลับมาตรวจสอบภาพจากกล้องอีกครั้ง แต่ไม่พบว่าเสือกลับมาที่ซากกวางอีก มีเพียงแต่ตัวตะกวด เข้ามากินซากกวางป่าแทน
เสือโคร่ง ที่พบตัวนี้ เป็นเสือโคร่งวัยรุ่น อายุประมาณ 3 ปี เพศเมีย พบว่าเป็นเสือโคร่งตัวใหม่ที่ยังไม่เคยพบในพื้นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มาก่อน เสือตัวนี้เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เคยถ่ายภาพได้ กำหนดรหัส เรียกชื้อว่า HKT-262F เกิดที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผย
เพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 พบซากกระทิง ถูกเสือโคร่ง ล่า นอนตายอยู่บริเวณใกล้ร่องน้ำ ใกล้แคมป์แม่กระสา และเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2563 พบเสือโคร่งล่ากวางป่า จำนวน 1 ตัว นอนตายอยู่บริเวณปลักน้ำ กลางป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ซึ่งเคยได้นเรียนเสนอให้ได้ทราบกันมาแล้ว
จากเหตุการณ์ที่พบเสือล่าเหยื่อ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ หลายครั้ง ในเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักนั้น ถือได้ว่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผืนป่าที่มีความสำคัญในการจะใช้เป็นพื้นที่รองรับการกระจายของเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตเสือโคร่ง (tiger source site) ที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมยิ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือโคร่งให้คงอยู่กับโลกของเรา
ด้านนายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ตั้งแต่ปี 2530 ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาก ทำให้มีจำนวนสุตว์ป่าเพิ่มขึ้นตาม
การที่มีเสือข้ามถิ่นมาล่ากวางป่าและมามารถถ่ายภาพชุดนี้มาได้นั้น ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ยืนยันว่าสภาพป่าในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ดังคำกล่าวที่ว่า “แม่วงก์ – คลองลาน ผืนป่าแห่งความหวัง”
รวมทั้งเสือโคร่งจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ จากการประเมินพบเสือโคร่งทั่วโลกเหลือไม่เกิน 4,000 ตัว เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ทำหน้าที่ควบคุมและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งพื้นที่ใดมีเสือโคร่งก็ย่อมจะต้องมีสัตว์ที่เป็นเหยื่ออย่างเพียงพอ และมีพืชพรรณอาหารที่เอื้อต่อสัตว์กินพืชอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การอนุรักษ์เสือโคร่งไม่เพียงแต่อนุรักษ์ตัวเสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังได้อนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ รวมถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งระบบอีกด้วย
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ยังได้ให้ความสำคัญในการจัดการพื้นที่เพื่อสัตว์ป่า โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ให้มีระบบนิเวศทุ่งหญ้าและโป่งเทียมเพิ่มเติมเพื่อเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์กีบชนิดต่าง ๆ เช่น กวางป่า เก้ง กระทิง หมูป่า เป็นต้น ได้ใช้ประโยชน์ อันจะเอื้อให้ระบบนิเวศมีความสมดุลและช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวิภาพ นอกจากนั้น การทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผ่านระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol System) ก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญในการดูแลและป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้คงอยู่
ข้อมูล/ภาพ/รายงาน
- นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สบอ. 12(นครสวรรค์)
2.WWF-ประเทศไทย