1

อาศรมพรหมธาดาพุทธาสถาน ชี้แจงเรื่องผู้ปฏิบัติธรรมแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ ห่มส้มชุดส่าหรีของนักพรต คำว่า “ครูบา” เพราะเคารพครูบาอาจารย์

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 1 พ.ค.2564 ที่ศาลาพระปริตร ด้านหน้าซุ้มประตูเข้าอาศรมพรหมธาดาพุทธาสถาน หมู่ 6 บ้านใหม่แม่เตี๊ยะ ต.ดอนแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ตัวแทนอาศรมฯดังกล่าว เปิดแถลงข่าวถึงกรณีโลกออนไลน์เข้าใจผิดในการแต่งกายของผู้เข้าไปปฏิบัติธรรมในอาศรมฯ และกรณีการไม่เข้าใจเรื่องอื่นๆด้วยนั้น มี ศาสตราจารย์ ดร.พศิน แตงจวง อาจารย์สอนมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา ในฐานะนักวิชการของอาศรมฯ พร้อม สัจโยคีนัลลิตา ลักษนิลวรรณภา เลิศนภาศิริ มาตานุ๊ก อาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษในอาศรมฯ และนายปริญญา ณ เชียงใหม่ นักล้านนาวิทยา นักเขียนหนังสือประวัติสาสตร์ล้านนา และเป็นที่ปรึกษาอาศรมฯ รวมกันแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ศาสตราจารย์ ดร.พศิน กล่าวว่า แต่เดิมพื้นที่อาศรมฯเป็นป่าเสื่อมโทรม ทางสถานที่ปฏิบัติธรรมหรืออาศรมพรหมธาดาพุทธาสถาน ได้ขอเช่าใช้พื้นที่กับทางกรมป่าไม้ ประมาณ 20 ไร่กว่า ซึ่งประมาณกว่า 10 ปีมาแล้วครั้งนั้น ทางกำนันปั๋น เป็นตัวแทนชาวบ้านในหมู่บ้านได้ไปนิมนต์พระครูบาตรัยเทพ จันทวัณโณ ขอให้ท่านมาดูแลสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน ขณะนี้กำลังขอเป็นวัดอยู่ในระหว่างรอการอนุมัติเสนอเรื่องไปยังกรมป่าไม้และเรื่องอยู่ที่สำนักพุทธจังหวัดเชียงใหม่แล้ว อาศรมฯได้สร้างมานานกว่า 10 ปี ให้เป็นที่เผยแพร่พระพุทธศาสนา จากนั้นมีผู้เข้ามาปฏิบัติธรรมกันจำนวนมาก มีทั้งพระสงฆ์ และนักพรต รวมทั้งโยคีพราหมณ์

“ส่วนคำว่า “ครูบา” เป็นเพราะพระครูบาตรัยเทพ ได้สอนให้ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมทุกคนปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นอกจากเคารพนับถือพระพุทธเจ้า สร้างพระและสร้างเกจิอาจารย์ทุกๆท่านในประเทศไทยไว้จำนวนมาก พร้อมกันนั้นก็ให้เคารพองค์เทพด้วยเพราะมีมาตั้งแต่ในสมัยพระพุทธกาล จึงสร้างองค์เทพต่างๆไว้ในอาศรมฯมากมาย จึงมีลูกศิษย์จำนวนมากที่เคารพนับถือท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ คอยสอนให้ทุกคนเป็นคนดี จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่เรียกท่านว่า “ครูบา” จึงเรียกท่านว่า พระครูบาตรัยเทพ นั้นเอง” ศาสตราจารย์ ดร.พศิน แตงจวง กล่าว

ด้าน สัจโยคีนัลลิตา ลักษนิลวรรณภา เลิศนภาศิริ มาตานุ๊ก กล่าวว่า กรณีที่โลกออนไลน์เผยแพร่ชุดสีส้มประกอบพิธี “อภิไทโภธิบาทว์” กล่าวว่า ตนไม่ใช่แม่ชี ไม่ได้เป็นพระ ชุดที่สวมใส่ประกอบพิธีดังกล่าว เป็นชุดส่าหรี(ชุดอีนเดีย)ที่สวมใส่กันมากในย่านย่านพาหุรัด นามที่เรียกนำหน้า (นักพรตที่เป็นผู้ชายเรียก บาบา เป็นผู้หญิงเรียก มาตา) ชุดสีส้มห่มไว้ในการประกอบพิธีสำคัญดังกล่าว เป็นชุดส่าหรีของนักพรตที่มาปฏิบัติธรรมในอาศรมฯเท่านั้น

“ต้องตัดไปเลย เรื่องแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์จะมี สังฆาฏิ ผ้าจีวร และผ้าสบง อังสะ สังฆาฏิ ผ้ารัดอก รัดประคต และอื่นๆ ไม่ได้เลียนแบบพระสงฆ์เลยแม้แต่ชิ้นเดียว ผ้าสีส้มเป็นสีสว่างเหมาะสมในการประกอบพิธี ส่วนห่มสีน้ำตาลเพราะต้องทำงาน และปฏิบัติธรรมในป่าหากไปไหนมาไหนไม่เลอะ เปรอะ เปื้อนนั้นเอง ไม่เป็นนิกายใดๆ ขอย้ำเป็นนักพรต ประเภทเดียวกับโยคีฤาษี นับถือพระรัตนตรัย ถือศิล 8 และให้ความสำคัญและเคารพเทพเทวดาทุกองค์” สัจโยคีนัลลิตา ลักษนิลวรรณภา เลิศนภาศิริ มาตานุ๊ก กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับอาศรมพรหมธาดาพุทธาสถาน มีพระมหาธาตุเจดีย์ ไตรรัตนพุทธญาณรังสีปฐวีมงคล หรือ เจดีย์ดวงตาแห่งปัญญา เป็นศิลปะเนปาลโดย จำลองมาจาก มหาเจดีย์พุทธนาถ แห่งกรุงกาฐมาณฑุเนปาล ก่อนนั้นเปิดให้เป็นวัดท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง ในอาศรมฯจัดการเรียนการสอนให้ชาวบ้านในพื้นที่สร้างอาชีพ และสอนหนังสือให้ด้วย

อาศรมจะมีลานครูบาศรีวิชัย ทางเดินเป็นบันไดนาคขึ้นไปสู่องค์พระมหาธาตุเจดีย์ ขวามือเป็นพระสังกัจจายน์องค์ใหญ่ และองค์เทพที่จำลองจากประเทศจีนอีก จำนวนมาก เมื่อเข้าสู่อาศรมจะพบกับเจ้าพ่อเสื้อวัด (ปู่ขาว) มีดงฤๅษี และเทพเจ้าจากประเทศต่างๆเช่น เนปาล อินเดีย จีน เมียนมาและไทย ให้สักการะ

จุดสำคัญคือ พระมหาธาตุเจดีย์ไตรรัตนพุทธญาณรังสีปฐวีมงคล อยู่ด้านหน้าองค์ มหาเจดีย์ มีรูปปั้นขององค์มหาเทพตาม ความเชื่อฮินดู บริเวณใต้ฐานพระมหาธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเป็นที่บรรจุเก็บรักษาพระธาตุ และอัฐบริขารของพระเกจิอาจารย์ นักบวช นักบุญจากทุกศาสนาทั่วทุกมุมโลก.