1

คปภ. ขานรับมติ ครม. เร่งขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564” สู้ภัยธรรมชาติ

คปภ. ขานรับมติ ครม. เร่งขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564” สู้ภัยธรรมชาติ
• เลขาธิการ คปภ. ลงนามอนุมัติ แบบกรมธรรม์ข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 แล้ว เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรชาวนาไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เห็นชอบหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2563 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ และภัยจากศัตรูพืช หรือโรคระบาด ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสูงสุด 46 ล้านไร่ และภาครัฐให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 2,936 ล้านบาท โดยมติครม. ดังกล่าว ได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัย รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จ และสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2564 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2564 และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2564 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เตรียมความพร้อมและเดินหน้าสานต่อโครงการฯ ปีการผลิต 2564 ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว โดยปีนี้กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีมีรูปแบบเหมือนกับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 แต่มีการปรับลดเบี้ยประกันภัยลง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรชาวนา ในสถานการณ์โควิด-19 โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ตนในฐานะนายทะเบียนได้ลงนามให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 4 แบบกรมธรรม์ ดังนี้
แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 เพื่อกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 เพื่อกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ
แบบที่ 3 กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
แบบที่ 4 กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 สำหรับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ส่วนเพิ่ม
กรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 แบบ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัย 2 หมวด ดังนี้
หมวดที่ 1 ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยจากช้างป่า โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ และส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 240 บาทต่อไร่
หมวดที่ 2 ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยแยกความคุ้มครองเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน อยู่ที่ 630 บาทต่อไร่ ส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม อยู่ที่ 120 บาทต่อไร่
โดยภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น เกษตรกรที่ทำประกันภัยโดยเลือกซื้อความคุ้มครองทั้งส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ในคราวเดียวกันของหมวดที่ 1 จะได้รับความคุ้มครองรวม อยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และหมวดที่ 2 จะได้รับความคุ้มครองรวม อยู่ที่ 750 บาทต่อไร่ โดยมีค่าเบี้ยประกันภัย
และสัดส่วนการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย รวมค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาล ดังนี้
สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน 96 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุนอีก 38 บาทต่อไร่
ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพิ่มเอง และเกษตรกรทั่วไป จะจ่ายตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในส่วนที่ 1 ความคุ้มครองพื้นฐาน ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ จ่ายเบี้ยประกันภัย 55 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุนทั้งหมด 55 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 210 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจ่ายเอง 152 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 230 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุน 58 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายเอง 172 บาทต่อไร่ สำหรับเบี้ยประกันภัยในส่วนที่ 2 ความคุ้มครองส่วนเพิ่ม เกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมดตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีเขียวมีความเสี่ยงภัยต่ำ จ่ายเบี้ยประกันภัย 24 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลืองมีความเสี่ยงภัยปานกลาง จ่ายเบี้ยประกันภัย 48 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีแดงมีความเสี่ยงภัยสูง จ่ายเบี้ยประกันภัย 101 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ทั้งนี้ มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีการผลิต 2564 จำนวน 16 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด สาขาประเทศไทย บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอลเอ็มจีประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2564 ได้ทันทีภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และวันสิ้นสุดการขายจะแตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ คือ วันที่ 30 เมษายน 2564 วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้วันที่ 31 ธันวาคม 2564
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรชาวนา เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามโครงการฯ ปีการผลิต 2564 สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดทำโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย Training for the Trainers” สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยในปีนี้จะมีการลงพื้นที่ให้ความรู้ จำนวน 5 ครั้ง ใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร หนองคาย อุตรดิตถ์ ลำปาง และ ชัยภูมิ ขณะนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับประชาชนบางส่วนแล้ว รวมถึงภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตามมา สำนักงาน คปภ. จึงได้เตรียมความพร้อมเพื่อลงพื้นที่ให้ความรู้แบบคู่ขนาน โดยการบรรยายจากวิทยากร 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้ดำเนินการผลิตสื่อความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้เกษตรกรชาวนาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น เช่น การจัดทำสื่อความรู้และประชาสัมพันธ์ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ คู่มือประกอบการอบรม การจัดทำสื่อวีดิทัศน์ในรูปแบบกราฟฟิกเคลื่อนไหว (Motion graphic) การใช้บุคคล ที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร (influencer) ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ การจัดทำสื่อความรู้ในรูปแบบคลิปเสียง การจัดทำข้อมูลความรู้เพื่อเผยแพร่ผ่าน Mobile Application “กูรูประกันข้าว” บนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน รวมถึงการผลิตสื่อดิจิทัล ได้แก่ สื่อสังคมออนไลน์ Web-site YouTube โดยจะได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่สื่อความรู้ต่าง ๆ ผ่านช่องทางที่เข้าถึงเกษตรกรชาวนาให้มากที่สุด

“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวนาไทยให้มีความมั่นคง เนื่องจากอาชีพทำนามีความเสี่ยงสูง เพราะต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวนาทุกคนให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยข้าวนาปี ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย