1

“รมว.วราวุธ นำทีม ทส. หารือแนวทางลด CO₂ ร่วมกับกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 เวลา 10.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุมนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand Long-Term Strategies on Climate Change Mitigation) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 กระทรวงพลังงาน

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรก ในการหารือแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย โดยมีผู้บริหารหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางรุ่งนภา พัฒนภิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เข้าร่วมประชุมด้วย

โดยที่ประชุมได้มีการหารือถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงพลังงาน ในการแก้ปัญหาสภาวะก๊าซเรือนกระจก อีกทั้ง ยังได้พิจารณาถึงนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย ทิศทางการดำเนินงานนโยบายด้านพลังงานของไทย การเข้าสู่ Carbon Neutrality Scenario ในภาคพลังงานของไทยและมุมมองของภาคเอกชน แนวทางการใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อน Carbon Neutrality Scenario ของไทย

นายวราวุธ กล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ว่า นโยบายแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกนี้มีความสำคัญมาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศให้ได้ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด แต่จากการคำนวณอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) แล้ว พบว่า ยังไม่เพียงพอต่อการดูดซับก๊าซดังกล่าว ดังนั้นมาตรการที่สำคัญอีกขั้น คือการหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมในการดำเนินชีวิตที่ดีต่อไป

“วันนี้ต้องขอบคุณภาคเกษตรกร โดยเฉพาะภาคของอ้อย ซึ่งที่ผ่านมามีการลดการเผาในการเกษตรไปกว่า ร้อยละ 80 และในภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งหมด จำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ ความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยมุ่งสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนให้น้อยที่สุด เพื่อคุณภาพชีวิตของลูกหลานพวกเราในอนาคต” นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติม

นายจตุพร ได้กล่าวเสริมในช่วงท้ายว่า “จำเป็นต้องมีการทำผังพลังงาน เสมือนมีผังเมือง ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ทั้ง 2 กระทรวงดำเนินงานได้อย่างราบรื่น บนทิศทางที่ชัดเจนต่อไป”