เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านห้วยขึม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 น. ที่อ่างเก็บน้ำห้วยขึมโยธินอุทกพัฒนา บ้านห้วยขึม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านห้วยขึม อ่างเก็บน้ำห้วยขึมโยธินอุทกพัฒนา สร้างโดยมูลนิธิอุทกพฒน์ร่วมกับกองทัพบก สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 มีขนาดความจุน้ำ 1.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้สำหรับอุปโภค-การเกษตรได้ตลอดปี
สำหรับโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงบรรยายในการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อวันที่ 10มีนาคม 2557 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์ ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ใจความว่า “ สร้างป่า สร้างรายได้ เป็นแนวทางในการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อให้ประชาชน สามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยที่ไม่ทำลายป่าไม้ โดยการปลูกป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจมีการปลูกไม้หลายๆระดับ หลายๆชนิด มีทั้งไม้เรือนยอดสูงลดหลั่นกันลงมา นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้แล้วยังทำให้มีป่าเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย” มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาดำเนินการในหลายพื้นที่
โดยมีหลักการและเหตุผล คือเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์พื้นที่ของเกษตรกรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกแบบผสมผสานหลายชั้นเรือนยอด , พื้นที่ราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ได้รับการผ่อนผันตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 และพื้นที่ คทช. , การเข้าร่วมโครงการเป็นความสมัครใจของราษฎรเอง และบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ
สำหรับบ้านห้วยขึม ตำบลน้ำเลา อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่แห่งนี้ ทางกรมป่าไม้ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ปี พ.ศ 2563-2567 พื้นที่ 767 ไร่ เนื้อที่ 355 ไร่ สามารถสร้างป่า สร้างรายได้ ส่งเสริมการเรียนรู้ และการใช้พลังงานทดแทน โดยพื้นที่โดยรอบมีป่าชุมชน 378 ไร่ วนเกษตร 140 ไร่ ผลผลิตวนเกษตร 800,000 บาทต่อปี ป่าชุมชนรวม 1,470,000 บาทต่อปี เกษตรทฤษฎีใหม่รวม 1,170,000 บาทต่อปี
ในการส่งเสริมให้ปลูกต่อไร่ เป้นไม้เรือนยอดชั้นบน 25 ต้นต่อไร่ โดยเป็นไม้ป่า 15 ต้น และไม้เกษตร 10 ต้น , ไม้เรือนยอดชั้นกลาง 75 ต้นต่อไร่ โดยเป็นไม้ป่า 30 ต้น และไม้เกษตร 45 ต้น , ไม้เรือนยอดชั้นล่าง 40 ต้นต่อไร่ โดยเป็นไม้ป่า 15 ต้น และไม้เกษตร 25 ต้น พืชสมุนไพรหรือพืชกินหัว จำนวน 100 ต้น
จากนั้นคณะได้เยี่ยมชมสวนเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ เป็นเกษตรผสมผสานปลูกพืช ผลไม้ต่างๆ ที่ให้ผลผลิตตามฤดูกาลและให้ผลตลอดทั้งปี เลี้ยงปลา ซึ่งทำให้สามารถสร้างอาชีพ สร่างรายได้ จากการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว