1

น่าน – คนน่าน เศร้า สูญเสียอาจารย์หมอบุญยงค์ วงศ์รักมิตร สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพวงมาลาหน้าหีบศพ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เชิญวางพวงมาลาหน้าหีบศพ นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ณ ศาลารวมใจ วัดภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

ประวัติ โดยย่อ
นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร เกิดที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ปัจจุบันมีอายุ 91 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในจังหวัดลำปาง เข้ามาศึกษาต่อ ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2501
คุณหมอบุญยงค์ เริ่มเข้ารับราชการเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนถึงปี พ.ศ. 2502 ได้ย้ายไปประจำโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร และจังหวัดเลย ตามลำดับ และทำหน้าที่เป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นเขตทุรกันดาร และมีการสู้รบกับผู้ก่อการร้ายบ่อยครั้ง เป็นเวลาถึง 17 ปีที่คุณหมอบุญยงค์ฯ ใช้ชีวิตการเป็นแพทย์อยู่ตามหัวเมืองด้วยความเสียสละ ขยันขันแข็งไม่ชอบการฟุ้งเฟ้อ และอุทิศเวลาเพื่อการงานอย่างสม่ำเสมอ ท่านป็นที่รักใคร่นับถือของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ตลอดมา
นอกจาก การใช้ความรู้ความสามารถในด้านเวชปฏิบัติ เอาใจใส่ดูแลรักษาประชาชนผู้ป่วยทางเวชกรรมทั่วไปอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ไม่เลือกเวลา เวรยาม และไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนแล้ว คุณหมอบุญยงค์ ยังเป็นแพทย์ชำนาญทางศัลยกรรมที่มีฝีมือเยี่ยมอีกด้วย ในเขตอันตรายจากผู้ก่อการร้าย เช่นจังหวัดน่านนั้น โรงพยาบาลต้องปฏิบัติการผ่าตัดฉุกเฉินแก่ตำรวจ ทหาร และพลเรือนอาสาสมัคร ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะสู้รบอยู่เป็นประจำ คุณหมอบุญยงค์ ไม่เคยเหนื่อยหน่ายต่อหน้าที่แม้แต่น้อย ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ให้แก่การผ่าตัดรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยโดยการลงมือด้วยตนเอง ให้การเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิดอย่างเสมอต้นเสมอปลายทุกครั้งคราวไปจนเป็นที่อบอุ่นใจแก่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร ถึงกับได้รับขนานนามว่า “ผู้พิทักษ์ยุทธภูมิ” ทางด้านประชาชนทั่วไปก็ได้รับความเคารพ ความชื่นชมและความร่วมมือเป็นอย่างดี จนเป็นที่กล่าวขานของประชาชนว่า เป็น “ขวัญใจของคนยากไร้”
ในด้านวิชาการ คุณหมอบุญยงค์ ได้ค้นคิดดัดแปลงเครื่องมือในการให้บริการแก่ผู้ป่วยเจ็บให้สามารถใช้การได้อย่างทันท่วงที ได้อบรมและติดตามเจ้าหน้าที่ทุกคนในโรงพยาบาล ให้เอาใจใส่บริการแก่ผู้ป่วยให้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ก่อการร้าย จนทำให้ขวัญและกำลังใจทหาร ตำรวจ ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในโรงพยาบาลแห่งนี้อย่างเต็มที่ เพราะมั่นใจได้ว่า หากได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ จะได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องส่งมารักษาถึงกรุงเทพฯ

ด้านการบริหารงาน คุณหมอบุญยงค์ฯ มีความเป็นผู้นำจนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับนับถือของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทุกระดับ นับตั้งแต่การจัดระบบงาน การบำรุงขวัญ กำลังใจเจ้าหน้าที่ มนุษยสัมพันธ์ การให้ความร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด ตลอดจนการให้ความสนับสนุนแก่ศูนย์การแพทย์ และอนามัยต่าง ๆ

ผลจากการปฏิบัติงานดีเด่นในด้านการให้บริการผู้เจ็บป่วย ทำให้คุณหมอบุญยงค์ ได้รับการเสนอให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่สูงกว่า สะดวกสบายกว่าหลายต่อหลายครั้ง แต่คุณหมอได้ปฏิเสธไปทุกครั้ง เนื่องจากมุ่งมั่นที่จะอุทิศตนเพื่อความอยู่รอดของพี่น้องประชาชน ทหาร ตำรวจ และพลเรือนอาสาสมัคร ผู้ต้องเหน็ดเหนื่อยเสี่ยงชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยและเอกราชของประเทศชาติตลอดมา..(ขอบคุณข้อมูล มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน)

**** กำหนดการบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร
ณ ศาลาวัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2567 พิธีรดน้ำศพ เวลา 13.00 น.
วันที่ 14 – 18 ตุลาคม พ.ศ.2567 แสดงพระธรรมเทศนา และพิธีสวดพระอภิธรรม เวลา 19.30 น.
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2567 พิธีฌาปนกิจ เวลา 12.00 น.ณ ฌาปนสถานลอมเชียงของ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน
” ขออนุญาตงดรับพวงหรีด ” โดยร่วมบริจาคทำบุญมอบให้องค์กรสาธารณกุศล
ชื่อบัญชี : บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เลขที่บัญชี : 411-1-060405 หรือ พร้อมเพย์ : 085-0367401

16 คำสอนของอาจารย์นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร เมื่อครั้งจัดงาน “สอนให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น 80 ปี นายแพทย์บุญยงค์ วงศ์รักมิตร” ผมได้มีโอกาสรวบรวม ข้อคิดคำสอนของอาจารย์ ทั้ง 16 คำสอนจัดแสดงเป็นนิทรรศการที่หน้าห้องประชุมพุทธมนต์โชติคุณ ที่ รพ.น่าน ทุกคำสอน มีความหมาย และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน รวมทั้ง ได้เห็นถึงวิถีมุมมองในการ “ครองตน ครองคน ของงาน” ของอาจารย์ ผู้ที่เป็นต้นแบบให้กับ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ลูกศิษย์ลูกหา ผู้ร่วมงาน และผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งกัลยาณมิตรทุกภาคส่วน วันที่อาจารย์จากพวกเราไปแล้ว แต่คำสอนของอาจารย์ ยังอยู่เป็นข้อคิด เป็นคำเตือนตน เตือนใจ ให้ “ลูกศิษย์อาจารย์บุญยงค์” ทุกคนตลอดไป

@@@@@@@@@@

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น จ.น่าน