1

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ชายแดนแม่สาย จับมือ เมียนมา พัฒนาการค้ายั่งยืนปฏิบัติตามมาตรฐานโลก ปรับปรุงห่วงโซ่สินค้าเกษตร ผลักดันความร่วมมือแก้ไขมลภาวะทางอากาศ

เมื่อวันที่ (17 กรกฎาคม 2567) นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และคณะผู้บริหารจากส่วนกลาง ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไทย ด้านการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นมิตกับสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมหารือกับฝ่ายเมียนมา ณ ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ด่านศุลกากรแม่สาย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือพร้อมกันเกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมา สถานการณ์การค้าชายแดนไทย เมียนมา สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงราย กรอบแนวทางการหารือกับฝ่ายเมียนมา แนวทางความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือฝ่ายเมียนมา และแนวทางเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังการหารือกับนายอู คุน เทียน หม่อง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์รัฐฉาน พลจัตวา จ่อว์ เท็ด ผบ.ภาคสามเหลี่ยม นายอู ไซ เลต รัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติของคณะผู้บริหารรัฐฉาน และคณะว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้ตนมาติดตามสถานการณ์การค้าเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทย – เมียนมา โดยเริ่มต้นที่รัฐฉานซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้าที่สำคัญเข้าสู่ไทย โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ข้ามพรมแดน และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการค้าชายแดนระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ยินดีที่จะร่วมมือกับเมียนมา ช่วยกันแก้ไขหรือลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
ในการหารือทั้งไทยและเมียนมา ได้แสดงออกถึงความจริงใจและตั้งใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยไทยได้เสนอแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐโดยมี กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ที่พร้อมจะทำงานร่วมกัน และอำนวยความสะดวกในการประสานงานแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และจะสนับสนุนข้อมูลให้ความร่วมมือทางนวัตกรรม และองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกข้าวโพด 75 วัน ซึ่งสามารถเก็บทั้งต้นและสามารถปรับเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนการนำไปทำปุ๋ย ผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการหารือในวันนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกัน และรัฐฉานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทางไทยจะได้มีการติดตามผลในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ขอบคุณทางเมียนมาที่มีความจริงใจและมีความตั้งใจร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากประเด็นสร้างผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Carbon Footprint และอื่น ๆ ซึ่งการประชุมวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จได้รับความร่วมมือและร่วมแก้ปัญหาไปได้ในระยะยาว”
โดยพื้นที่ทำการเกษตรของเมียนมา มีทั้งหมดประมาณ 80 ล้านไร่ อยู่ในรัฐฉานประมาณ 7.6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ทำการเกษตรเมียนมา ทั้งนี้เป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 40 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของรัฐฉาน สำหรับสถานการณ์การค้าชายแดนไทย – เมียนมานั้น ในปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.) ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมปริมาณ 1.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (นำเข้า 0.77 ล้านตัน) โดยนำเข้าจากเมียนมาเป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 0.91 ล้านตัน (ร้อยละ 82.80) รองลงมาได้แก่ สปป. ลาว 0.18 ล้านตัน (ร้อยละ 16.84) และกัมพูชา 0.004 ล้านตัน (ร้อยละ 0.37) โดยสินค้าส่วนใหญ่จะส่งออกทางบกผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด จังหวัดตาก