จังหวัดแม่ฮ่องสอนเตรียมความพร้อมชุดปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พ.ศ. 2567
เช้าวันนี้ (04 มิ.ย. 2567) ที่ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ (ท่าโป่งแดง) ต.ผาบ่อง อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานกิจกรรมการตรวจความพร้อมชุดปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พ.ศ. 2567 โดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้บูรณาการกับส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน(อส.) อาสาสมัครป้องกันภัย ฝ่ายพลเรือน(อปพร.) มูลนิธิฯ/องค์กรการกุศล ประชาชนจิตอาสา และภาคี เครือข่าย จัดกิจกรรมการตรวจความพร้อมชุดปฏิบัติการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม พ.ศ. ๒๕๖๗ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ สำหรับเตรียมความพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่าง ปลอดภัยและทันท่วงที รวมทั้งมีการวิเคราะห์สถานการณ์ของพื้นที่ บูรณาการ วางแผน และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยมีนายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แจ้งว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2567 ว่าฤดูฝนของประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนผ่านประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้นั้น ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขาสูงสลับซับซ้อน จึงอาจก่อให้เกิดเหตุอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มได้ ดังนั้นจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งการเฝ้าระวัง การป้องกัน การเผชิญเหตุ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น
/////////////