1

เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์เชิญชวนรับประทานสับปะรดห้วยมุ่น ฤดูกาลปี 2567

นางพรทิพย์​ ศรีสมโภชน์​ เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์​เปิดเผยว่า “สับปะรดห้วยมุ่น” เป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียที่นำเข้ามาปลูกในพื้นที่ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์​เมื่อ50ปีที่แล้ว แล้วเกิดการกลายพันธุ์เป็นพันธุ์ท้องถิ่นที่ดีกว่าพันธุ์เดิม​ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขา อากาศหนาวเย็นดินมีธาตุโพแทสเซียม และกำมะถันสูง ส่งผลให้สับปะรดมีลักษณะผิวบาง ตาตื้น เนื้อหนา สีเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหอมหวานแบบธรรมชาติ ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ลักษณะรูปทรงกลม น้ำหนักผลระหว่าง ๑.๕-๓.๕ กิโลกรัม ผลดิบจะสีเขียวคล้ำ ผลแก่เต็มที่เป็นสีเหลืองอมส้ม เรียกได้ว่าเป็น “ราชินีแห่งขุนเขาอำเภอน้ำปาด”
สับปะรดห้วยมุ่น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เลขที่ สช 56100056 ระบุว่า สับปะรดห้วยมุ่น (Pineapple Hauymon)
เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556
ข้อมูลภาวการณ์ผลิตสับปะรด ในปีการผลิต 2567 จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสับปะรด จำนวน 12,354 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวน 11,014 ไร่ ผลผลิต จำนวนรวม 33,174.17 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,012 กิโลกรัมต่อไร่ โดยปลูกในพื้นที่อำเภอน้ำปาด อำเภอบ้านโคก และอำเภอฟากท่า
ปริมาณผลผลิตจะออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี ผลผลิตออกปริมาณมากที่สุดช่วงเดือนมิถุนายน– กรกฎาคม.โดยในเดือนมิถุนายน ร้อยละ 34.07 จำนวน 11,021.44 ตัน.เดือนกรกฎาคม ร้อยละ 26.80 จำนวน 8,890.68 ตัน
ข้อมูลภาวการณ์ตลาดปี 2567 จำหน่ายบริโภคสด ร้อยละ 60​ส่งโรงงานหรือแปรรูป ร้อยละ 40​ราคาที่เกษตรกรจำหน่ายได้ ณ จุดรับซื้อในพื้นที่ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ได้แก่ เนื้อ 1 ราคา 17 บาท เนื้อ 2 ราคา 13 บาท​ ในปีนี้ราคาดีพอสมควรคาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้กว่า 398 ล้านบาท

ณัฐวัฒน์​ ราช​ประสิทธิ์​ ภาพ/ข่าวอุตรดิตถ์​ 0612928668​