จังหวัดอุทัยธานี#เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ ฝ่ายปกครอง ร่วมกันจับเสือ ที่ออกนอกป่าห้วยขาแข้ง มาทำร้ายสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านได้แล้ว พร้อมนำกลับปล่อยคืนกลางป่า ไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อน หวาดกลัวให้กับประชาชนอีกต่อไป
ตามที่มีเสือโคร่ง จำนวน 1 ตัว ออกมาจากป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 มาสร้างความเดือดร้อน และทำร้ายสัตว์เลี้ยง เช่น วัว แพะ เป็ด ของชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเวลา 03.00 น. ของคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เสือโคร่งตัวนี้ ได้เข้ามาทำร้ายวัวของชาวบ้านตายไป 2 ตัว และบาดเจ็บ 1 ตัว สร้างความเดือดร้อน กังวล ให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ในพื้นที่ และราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก
จนวันนี้ ( วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564) เวลา 08.00 น. นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 ได้เป็นผู้แทน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนเข้มข้น ในการเฝ้าระวัง และผลักดันเสือกลับป่า รวมทั้งเตรียมปืนยิงยาสลบไว้ 4 ชุด พร้อมจะจับเสือโคร่งกลับคืนป่าให้ได้
จนเวลา 09.00 น. ได้ประชุมร่วมกับผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนสมาชิกสภาราษฎรในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในตำบลระบำ อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี เพื่อหาทางเฝ้าระวัง โดยแจ้งในที่ประชุมว่า คืนนี้ จะจัดชุดเจ้าหน้าที่อุทยาน มาเฝ้าคอกสัตว์เลี้ยง ที่มีอยู่กระจายอยู่ทั่วไป จำนวน 25 คอก คอกละ 3 คน เพื่อไม่ให้เสือเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยงอีกต่อไป
ในขณะที่ ชุดติดตามเสือโคร่ง นำโดย นางสาววีรยา โอชะกุล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ และเจ้าหน้าที่ ได้เดินแกะรอยเสือ อย่างต่อเนื่อง จนพบว่า เสือมาหลบร้อน ซ่อนตัวอยู่ในท่อระบายน้ำข้ามถนน ณ จุดใกล้กับสถานีไฟป่าห้วยขาแข้ง จึงได้จัดชุดซุ่มดักยิงยาสลบ ทั้ง 2 ข้าง แต่เสือโคร่งไม่ยอมออกมา จึงได้ใช้ฟางจุดสุมไฟ เพื่อให้ควันไฟไล่ให้เสือออกมา ก็เป็นไปตามคาด เจ้าหน้าที่ซึ่งเตรียมปืนดักยิงที่มีลูกดอกยาสลบอยู่แล้ว ได้ลงมือปฎิบัติยิงทันที ที่เสือหนีควันไฟออกมา ลูกดอกถูกตรงตามเป้า เสือโคร่งวิ่งหนีเข้าป่าไป แต่เจ้าหน้าที่มั่นใจว่า อีกราว 15 นาที เสือตัวนี้น่าจะต้องหมดแรงและสลบ ดังนั้นเมื่อครบ 15 นาที จึงเดินตามเข้าไป ก็พบเสือนอนสลบอยู่ ตามคาด ห่างจากจุดที่ยิงลูกดอกยาสลบ ประมาณ 500 เมตร
จากนั้น นางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมทีมสัตวแพทย์ของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสัตวบาล ช่วยกันพยาบาล สร้างความอบอุ่น พัดลมช่วยระบายอากาศ และฉีดยาบำรุง พร้อมทำแผลให้กับเสือ
พบว่า เสือตัวนี้ เป็นเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม มีพื้นที่หากินราว 200 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม พื้นที่ป่าเวิ้งที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตีนเขานางรำ แต่ข้อการวิจัยล่าสุด ได้รู้ว่า มีเสือโคร่งตัวผู้ที่กำยำและหนุ่มกว่า เข้ามาช่วงชิงพื้นที่หากิน ทั้งทางด้านใต้และด้านเหนือ เป็นเหตุให้มันต้องหาแหล่งหากินใหม่ ซึ่ง พื้นที่ที่ค้นพบครั้งนี้ แม้เป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่สำหรับเสือ แต่ก็เป็นพื้นที่ชุมชน จึงมีความจำเป็นต้องผลักดันกลับสู่ป่า
จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ทำการติดปลอกคอติดตามตัว เพื่อจะได้ทราบความเคลื่อนไหวของเสือตัวนี้ในอนาคตเป็นรายนาที ว่า ขณะนี้ อยู่ ณ จุดใด ถ้าออกมาจากป่าอีก เจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าจัดการได้ง่าย จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำ เสือเข้ากรง ขนย้ายไปปล่อยกลางป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อไม่ให้ออกมาสร้างความเดือดร้อน รำคาญ ให้กับราษฎรอีกต่อไป
ในส่วนของซากวัว ที่เสือล่าไว้ 2 ตัว เมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น เจ้าหน้าที่ได้นำติดรถไปด้วย 1 ตัว เพื่อให้เสือได้กินเป็นอาหาร ตามที่เขาตั้งใจล่าไว้ ในส่วนของ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการกำชับมาเมื่อเช้านี้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความระมัดระวังในการปฎิบัติ เน้นให้ทั้งเสือและคนปลอดภัย และสั่งให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 เข้าไปหารือพูดคุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ในการเยียวยาให้กับราษฎรเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่โดนเสือทำร้าย สำนักบริหารพื้นทีอนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ในนาม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วนในความร่วมมืออย่างดียิ่ง จนสามารถปฎิบัติการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงมาได้ด้วยดีตามแผนที่วางไว้
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผอ. สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12(นครสวรรค์) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงาน