1

บ้านกล้วยเภาหาบข้าว เข้าโรงเรียน ขับเคลื่อนกลไกสร้างความสัมพันธ์และการพึ่งพาภายในชุมชน

ความกลมเกลียวของสังคมไทยที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์และความชิดใกล้ เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เป็นกลไกทางสังคมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เรียบง่าย ในอดีตแทบไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในการผลักดัน สถาบันรากฐานของสังคมก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น สามารถประสาน ผนึกกำลังเกิดความสมบูรณ์และสมดุลในการอยู่ร่วมกัน น่าเสียดาย หากความเรียบง่ายที่งดงามนี้พบเห็นได้แค่ในอดีตกาล

สถานศึกษาเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมให้แก่คนในชุมชน โรงเรียนมีบทบาทในการเตรียมเยาวชนในชุมชนให้มีความพร้อมเข้าสู่สังคม ในอดีตความสัมพันธ์ของโรงเรียนและชุมชน มีความใกล้ชิด พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แม้ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางทางสังคมจะส่งผลลดทอนความใกล้ชิด แต่ชุมชนก็ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรในการจัดการศึกษาที่สำคัญสำหรับโรงเรียน องค์กรภาครัฐจึงมีความพยายามพัฒนาระบบและกลไกในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ภาคประชาชนในชุมชนที่มีความเข้มแข็งก็สร้างกลไกความร่วมมือในหลากหลายรูปแบบตามบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่

เสียงจากขบวนกลองยาวที่ดังขึ้นในช่วงสายวันหนึ่ง ที่โรงเรียนบ้านดอนประดู่ ต.ดอนประดู่ อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง จึงไม่ใช่แค่การต้อนรับเลียงข้าวเปลือกหกร้อยกิโลกรัม ที่สมาชิกกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์บ้านกล้วยเภานำมามอบให้โรงเรียนเพื่อใช้เป็นอาหารมื้อเที่ยงของนักเรียน แต่เป็นกลไกหนึ่งในการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยของชุมชนและโรงเรียน
“ โรงเรียนบ้านดอนประดู่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษา 160 คน เราเป็นโรงเรียนในชุมชน ได้นำนักเรียนไปเรียนรู้เรื่องการปลูกผัก การทำปุ๋ย การเพาะเห็ดจากชุมชน แล้วกลับมาทำที่โรงเรียน ทุกๆ ปีได้นำเด็กๆ ไปสัมผัสห้องเรียนธรรมชาติ ได้เล่นโคลน วิดลูกคลัก และทำนา ซึ่งเด็กๆ ชอบมาก ครูก็ได้ไปร่วมดำนาและเกี่ยวข้าวด้วยทุกปี” นางณัฏชา ยักกะพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอนประดู่ บอกเล่ากิจกรรมนำนักเรียนเรียนรู้ศาสตร์บรรพชน จากแหล่งปฏิบัติการชุมชนวิถีชีวิตชาวนา ที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ ม.ทักษิณ จัดให้กับพื้นที่ตำบลดอนประดู่ต่อเนื่องในช่วงแปดปีที่ผ่านมา

กิจกรรมหาบข้าว เข้าโรงเรียน เกิดจากแนวคิดของสถาบันปฏิบัติการชุมชนฯ ที่ต้องการเชื่อมประสานให้ชุมชนและโรงเรียนมีความยึดโยง สามารถพึ่งพาซึ่งกันและกัน จึงชักชวนผู้ใหญ่พนม อินทร์ศรี ผู้ใหญ่บ้านกล้วยเภา ให้เชิญชวนสมาชิกกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์นำผลผลิตมอบเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน โดยข้าวเปลือกส่วนหนึ่งประมาณหนึ่งร้อยกิโลจากน้ำพักน้ำแรงของนักเรียนเมื่อครั้งที่ได้ทำกิจกรรมเรียนรู้จากการปฏิบัติกับครูชาวนา และอีกห้าร้อยกิโลเป็นน้ำใจจากสมาชิกกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์

“ชุมชนบ้านกล้วยเภา เราได้กินข้าวอินทรีย์ จากการถ่ายทอดระบบเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียงของ สถาบันปฏิบัติการชุมชนฯ เราก็อยากให้ลูกๆ ในโรงเรียนได้กินเพื่อสุขภาพที่ดี และจะได้รณรงค์การทำเกษตรปลอดสารพิษไปสู่โรงเรียนด้วย” เสียงจากคุณสุนี ภัทรารุ่งโรจน์ หนึ่งในสมาชิกที่ได้มอบข้าวให้กับโรงเรียน
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม สังคมชนบทในอดีตครูจะรู้จักคุ้นเคยกับบ้านนักเรียนเป็นอย่างดี เมื่อเกิดปัญหาจึงสามารถร่วมกันแก้ไขได้ ผู้ปกครอง/คนในชุมชนมองโรงเรียนและครูด้วยความยกย่องเชิดชู เชื่อใจว่าสามารถพึ่งพาได้ จึงไม่อยากให้บทบาทการช่วยเหลือเกื้อกูลนี้หายไป การขับเคลื่อนชุมชนที่ผ่านมาของสถาบันฯ นอกจากจะสนับสนุนความกลมเกลียวและการพึ่งพาตนเองภายในชุมชนด้วยการพัฒนาระบบกลุ่มต่างๆ แล้ว เรายังได้ออกแบบกิจกรรมเพื่อเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ชุมชนกับวัด ชุมชนกับโรงเรียนด้วย เพราะเห็นความงดงามและคุณค่าที่จะเกิดขึ้นจากกลไกการทำงานร่วมกันภายในชุมชน” อาจารย์ ดร.เปลื้อง สุวรรณมณี ผู้อำนวยการสถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ กล่าว

ภาพ/ข่าว.นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา